เริ่มประมูลแล้ว 1800MHz “AWN-DTN” เคาะชิงคนละไลเซนส์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่น 1800 MHz ณ สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 กรุงเทพฯ โดยการประมูลรอบแรกผู้เข้าประมูลเคาะรับราคา 2 ใบอนุญาต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า รัฐบาลผลักดันให้เกิด 5G ในปี 2563 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเป็นรูปธรรมได้ต้องมีคลื่นความถี่มากพอ ซึ่งประเทศไทยมีการใช้งานคลื่นความถี่ในภาพรวม420 MHz ต่ำกว่าข้อเสนอของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่ระบุว่าแต่ละประเทศ ควรมีคลื่นอย่างน้อย 720 MHz ต่อประเทศ ทำให้ต้องเดินหน้าจัดสรรคลื่นความถี่ต่อไปเพื่อให้เพียงพอ ขณะที่ปริมาณการใช้งานดาต้าของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  กสทช. จึงได้นำคลื่นความถี่ 1800 MHz  ภายใต้สัมปทานที่จะสิ้นสุด 15 ก.ย. 2561ออกประมูลเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด สร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยจะมีการประมูลทั้งหมด 9 ใบอนุญาต ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถเข้าประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาใบอนุญาตละ 12,486ล้านบาท  ผู้เข้าประมูลมี 2 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือดีแทค และ 2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส

สำหรับการประมูลรอบแรกได้เริ่มในเวลา 10.00 น. การประมูลแต่ละรอบจะใช้เวลา 20 นาที แบ่งเป็นเวลาเสนอราคา 15 นาที ประมวลผล 5 นาที แต่ละรายมีสิทธิ์ไม่เสนอราคา (Waiver) 3 ครั้ง แต่ห้ามใช้ในการเคาะราคารอบแรกซึ่งเป็นการยืนยันราคาเริ่มต้นที่ 12,486 ล้านบาท  มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการประมูลและถูกริบเงินประกัน 2,500 ล้านบาท ส่วนการเสนอราคาแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้น 25ล้านบาท

การสิ้นสุดการประมูลจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ชนะการประมูลชั่วคราวในรอบก่อนหน้านี้ “ไม่เสนอราคาเพิ่ม” และ ผู้ประมูลรายอื่น “ไม่เสนอราคาเพิ่ม และใช้สิทธิ์ Waiver ครบ 3 ครั้ง”แล้ว

สำหรับผู้เข้าประมูลในนามของAWN ประกอบด้วย 

นายสมชัย  เลิศสุทธิวงค์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

นายฮุย เวง ชอง   กรรมการผู้อำนวยการ / หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ

นายวีรวัฒน์  เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร

นายปรัธนา  ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป

นายธีร์   สีอัมพรโรจน์ รองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน

นายอุทัย   เพ็ญรัตน์ หัวหน้าฝ่ายงานกฎหมาย

นายสุเทพ   เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา

นายอนันต์  เอกวงศ์วิริยะ หัวหน้าฝ่ายงานวางแผนระบบเครือข่ายและบริการ

นายเอนก  พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์

นายอนันต์  แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ผู้เข้าประมูลในนาม DTN ประกอบด้วย

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี

ดร. รวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์

แมคเน เพตเตอร์เซน ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบริหารคลื่นความถี่ เทเลนอร์ กรุ๊ป

แรนดี ไฮรุง ผู้อำนวยการสายงานบริหารคลื่นความถี่ เทเลนอร์ กรุ๊ป 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุว่า ตามกฎการประมูลที่ออกแบบไว้ หลังจากเปิดประมูลในเวลา 10.00น. แล้วการประมูลจะจบได้เร็วที่สุดอย่างน้อยต้องมีการเปิดเสนอราคา4 รอบ ซึ่งแต่ละรอบจะใช้เวลา 20นาที แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทั้ง DTN และ AWN เลือกประมูลบล็อกคลื่นไม่ซ้ำกันเลย  โดยราคาจบการประมูลคลื่นจะอยู่ที่ 12,511ล้านบาทต่อไลเซนส์ หรือเพิ่มขึ้น25 ล้านบาท ( 1 เคาะ)


โดยรอบแรกจะเป็นการเคาะรับราคาเริ่มต้นประมูล 12,486 ล้านบาทต่อไลเซนส์ ซึ่งถ้า DTN และAWN เลือกบล็อกคลื่นไม่ตรงกันก็จะได้สิทธิ์เป็น “ผู้ชนะการประมูลชั่วคราว” ดังนั้นในการประมูลรอบที่2 จึงมีสิทธิ์ไม่ต้องเสนอราคาเพิ่มได้ โดยไม่ถูกตัดสิทธิ์ออกจากการประมูล ซึ่งหากไม่มีคู่แข่งมาเคาะราคาในบล็อกเดียวกัน ในรอบที่ 2ก็จะยืนราคาประมูลไว้ที่ 12,486ล้านบาท  และทำให้การประมูลรอบที่ 3 เข้าสู่การประมูลรอบ Final  ซึ่งทั้ง DTN และ AWN ต้องเคาะราคาเพิ่มในบล็อกคลื่นที่เสนอราคาไว้ก่อนนี้ตามเงื่อนไขประมูลที่ต้องยืนราคาเพิ่มอย่างน้อย 1 ครั้ง  ซึ่งหากเปิดประมูลในรอบที่ 4 แล้วไม่มีผู้ใดเสนอราคาเพิ่มอีกก็จะสิ้นสุดการประมูล