เปิดมติเสียงข้างน้อย กสทช. ทำไมควรเยียวยาให้ดีแทค

จากกรณีที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา มีมติด้วยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าที่ใช้บริการบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ หลังสัมปทานสิ้นสุด โดยทางเลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้แถลงข่าวมติที่ประชุมภายหลังการประชุมทันที ซึ่งมีการอธิบายถึงเหตุผลต่างๆ ของที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้กล่าวถึงความเห็นที่แตกต่างแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กสทช. เสียงข้างน้อย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หนึ่งในผู้ลงมติแตกต่างได้จัดทำความเห็นของตนเอง เพื่อให้ทางสำนักงาน กสทช. ใส่ประกอบไว้ในรายการงานประชุมของ กสทช. นัดพิเศษครั้งที่ 5/2561 (วันที่ 12 กันยายน 2561) ต่อไป

ทั้งนี้ ความเห็นของนายประวิทย์สรุปได้ดังนี้

1. การอ้างว่าเหตุที่ไม่ให้เข้าสู่มาตรการคุ้มครองเพราะมีการจัดประมูลล่วงหน้าแล้ว ถ้าเช่นนั้น ไม่ว่าเอกชนจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ก็ไม่สามารถเข้าสู่มาตรการคุ้มครองได้ แต่มติที่ประชุม กสทช. เดิมกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทฯ ต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่จึงจะได้สิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองฯ ซึ่งมิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ จึงไม่เป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ตามมติเดิมนี้ย่อมแสดงว่า การจัดประมูลในตัวมันเองไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิไม่ให้เข้าสู่มาตรการคุ้มครอง

2. ยิ่งไปกว่านั้น การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งที่ผ่านมานี้ ไม่ตรงกับคลื่นที่ขอความคุ้มครอง กล่าวคือ แม้ว่าเอกชนจะชนะการประมูลก็ไม่สามารถนำคลื่นนี้ไปทดแทนคลื่นตามสัมปทานเดิมได้ การพิจารณาเรื่องนี้จึงต้องคำนึงถึงผู้ใช้บริการเดิมเป็นหลัก แม้จะอ้างว่าเอกชนสามารถทำสัญญา Roaming กับรายอื่นได้ แต่หากซิมดับ ทุกบริการก็สิ้นสุดลงทันที ส่วนการอ้างว่าหากชนะประมูลก็สามารถใช้คลื่นเดิมไปก่อนได้ ไม่เคยมีกฎหมายหรือมติที่ประชุมรองรับแต่อย่างใด

3. ประเด็นการเพิ่มภาระรับผิดชอบอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวนในการประมูลที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏในร่างประกาศประมูลมาก่อน สำนักงาน กสทช. เพิ่งเสนอเพิ่มภายหลังการรับฟังความเห็นสาธารณะ เมื่อปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูลด้วยเหตุว่าภาระดังกล่าวเป็นต้นทุนที่ไม่อาจคำนวณได้แน่ชัด จึงเสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจ จึงรับฟังได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้การประมูลล้มเหลว และสมควรตัดภาระดังกล่าวออกแล้วจัดประมูลใหม่โดยเร็ว ซึ่งสำนักงานฯ รับว่าถ้าตัดเฉพาะเงื่อนไขนี้ สามารถจัดประมูลได้ในเดือนตุลาคม

4. ในประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหากไม่เห็นชอบมาตรการคุ้มครองนั้น เอกชนได้เสนอข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองว่า มีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุใช้บริการในต่างจังหวัด แต่ผู้จดทะเบียนเป็นบุตรที่ทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้สูงอายุไม่สามารถดำเนินการโอนย้ายได้เอง ต้องรอบุตรเดินทางกลับต่างจังหวัดไปดำเนินการ หากซิมดับก็จะไม่สามารถสื่อสารขอความช่วยเหลือได้ ส่วนสำนักงาน กสทช. รายงานว่ามีกรณีซิมที่ใช้กับ Machine ซึ่งต้องเปลี่ยนที่ตัวอุปกรณ์ จึงไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว และจากข้อมูลพบว่า มีทั้งการใช้งานกับเครื่อง EDC ตามร้านค้า เครื่อง ATM เครื่องส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของ กฟภ. ใช้กับเซ็นเซอร์น้ำตามสถานีตรวจสอบระดับน้ำของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงมรสุม เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม จึงเห็นว่า หากไม่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองฯ อาจกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและบริการสาธารณะต่างๆ ตลอดจนอาจกระทบต่อการติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ ส่วนการอ้างว่าศักยภาพโอนย้ายของระบบนั้นสูงถึง 60,000 เลขหมายต่อวัน ผู้ใช้บริการ 90,000 รายสามารถโอนย้ายได้ก่อนสิ้นสัมปทาน เป็นการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงอุปสรรคในการโอนย้ายจริงในกรณีของผู้อยู่ต่างจังหวัดหรือผู้ที่ยากต่อการเข้าถึงการโอนย้าย รวมทั้งกรณี Machine


5. ทางออกในเรื่องนี้ เห็นว่าควรตัดเงื่อนไขการประมูลที่ก่อภาระต่อเอกชนเกินกว่าการประมูลครั้งก่อนออก และไม่ต้องขยายงวดชำระเงินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ชนะประมูลเดิม แล้วเร่งจัดประมูลในเวลาไม่เกิน 1-2 เดือน ก็จะทำให้มาตรการคุ้มครองที่เอกชนขอสิ้นสุดลงตามกลไกปกติ ดังเช่นในอดีต เนื่องจากการไม่ให้เข้าสู่มาตรการคุ้มครองฯ นอกจากจะกระทบประโยชน์สาธารณะ ยังทำให้คลื่นความถี่ไม่ถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม”