ลบภาพ “แพง-เข้าถึงยาก” “ปฐมา” แม่ทัพใหม่ IBM

สัมภาษณ์

เป็นอีกหญิงแกร่งวงการไอที “ปฐมา จันทรักษ์” ที่คนไทยคุ้นเคยในฐานะเบอร์ 1 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ก่อนขยับไปดูแลงานระดับโลก ล่าสุดกลับมาไทยอีกครั้งกับยักษ์ใหญ่ IBM ในตำแหน่ง รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

Q : ย้อนกลับมาทำงานในไทย

ตั้งใจจะมาอยู่ถาวร ขายบ้านที่ต่างประเทศแล้ว คุณพ่อคุณแม่เป็นอดีตข้าราชการก็มักจะถามว่า จะกลับมาทำอะไรให้ประเทศชาติได้บ้าง ถูกปลูกฝังมาตลอด ครั้งนี้ก็ตั้งใจว่าจะทำอย่างไรที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอดให้ใช้งานจริงได้

Q : ทำไมถึงเลือกมาอยู่ IBM

ได้เห็นพรีเซนเทชั่น IBM Watson ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตอบคำถามเรื่องการรักษาโรคว่า เดี๋ยวนี้ทำอะไรได้แล้ว ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงตอนที่คุณพ่อตรวจพบเป็นมะเร็งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้รู้ว่าคนป่วยและญาติต้องพยายามหาทางเลือกที่ดี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของหมอ ไม่ได้มีข้อมูลหลากหลายที่ประมวลผลเป็นทางเลือกให้คนไข้ แต่เทคโนโลยีใหม่นำข้อมูลทั้งหมดประมวลผลไม่กี่วินาที ได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดกับผู้ป่วย ซึ่งไม่ใช่ใช้แค่กับการแพทย์ แต่ได้ทุกอุตสาหกรรม จึงอยากจะเห็นการใช้ในไทยอย่างแพร่หลาย

Q : ตลาดแข่งขันดุเดือด

ทุกองค์กรรู้ว่ากำลังถูกดิสรัปต์ จึงตื่นตัวในการลงทุน อย่างธุรกิจโรงพยาบาลที่ไทยเป็นฮับในด้านนี้ เดิมมีคนไข้หลักมาจากตะวันออกกลาง แต่ทุกวันนี้มีการลงทุนสูงมากเพื่อที่จะตั้งเมดิคอลฮับที่ตะวันออกกลางเอง เพื่อไม่ให้คนเดินทางออกมา ฉะนั้นต้องมีการต่อยอด ไม่ควรเป็นธุรกิจเดี่ยว ๆ แต่ต้องเชื่อมต่อ อาทิ เชื่อมกับทัวริสต์กับธุรกิจโรงแรม

Q : เป้าหมายที่วางไว้ในตำแหน่งนี้

กลุ่มธุรกิจไอทีไม่สามารถขายแต่ซอฟต์แวร์ได้อีกแล้ว IBM มองภาพที่นำเอา artificial intelligence (AI) เป็นคลังสมอง นำความฉลาดของแมชีน กับคนมารวมกัน ซึ่ง AI เพิ่งถูกพูดถึงเมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา แต่ใน IBM พัฒนาเรื่องนี้มากว่า 60 ปี กับ IBM Watson เป็นจุดแข็งที่พร้อมจะนำ AI มาประยุกต์ใช้รวมถึงบล็อกเชน IOT trust & security ที่เป็นโฟกัสหลัก ทั้งหมดพร้อมทำงานบนมัลติคลาวด์ที่เป็นความเชี่ยวชาญของ IBM ช่วยให้ข้อมูลที่องค์กรนั่งทับอยู่มหาศาล จะเอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างบล็อกเชนในไทยก็ก้าวหน้ามาก มีโอกาสที่จะทำให้ไทยนำประเทศ

อื่นได้อีกความตั้งใจส่วนตัวคือ ถ้าไทยจะเติบโตได้ ต้องให้เป็นฮับของอินโดไชน่า 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาในตำแหน่งนี้ ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดและความพร้อมของพาร์ตเนอร์รายใดที่จะก้าวไปบุกตลาดด้วยกันได้ วางบิสซิเนสโมเดลแต่ละประเทศ ซึ่งประเมินแล้วว่า กัมพูชามีความพร้อม มากที่สุด ก็จะบุกปีหน้า

Q : เป็นฮับคือ

เดิมเรามีรายได้จากอินโดไชน่าน้อย IBM จากสิงคโปร์เป็นคนทำตลาดเมียนมา ถ้าในลาวกับกัมพูชาเป็น IBM จากเวียดนาม ถ้า IBM ประเทศไทยไปลุยเองก็จะได้ประโยชน์กว่า คู่ค้าเราก็เข้าไปในตลาดนี้แล้ว ก็หวังว่าภายใน 3 ปี จะเริ่มมีรายได้จากกลุ่มนี้ สัก 5-10% ผลักดันคนไทยให้ไปมีประสบการณ์ เชื่อว่าไทยมีศักยภาพพอ ตำแหน่งนี้ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อให้มาดูแลส่วนนี้โดยเฉพาะ ฉะนั้น น่าจะเห็นอะไรดี ๆ เกิดขึ้นแน่นอน ทีมในไทยก็พร้อม

Q : กลายเป็นแย่งตลาดกับพาร์ตเนอร์

จะยั่งยืนต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้แข็งแกร่ง จับมือกับพาร์ตเนอร์ให้โตไปด้วยกัน ช่วยกันต่อยอด ฉะนั้น ภาพต้องชัดว่า ตรงไหนคือกลุ่มลูกค้าที่ IBM จะขายตรงเอง กับอีกส่วนที่เป็นลูกค้าใหม่ที่มีพาร์ตเนอร์ช่วยพาโซลูชั่นเข้าไป แล้วทั้งหมดไปในอินโดไชน่าด้วยกัน

Q : หนีแข่งดุในไทยที่จีนรุกตลาดหนัก

ไม่ใช่ ฐานตลาดไทยยังไปได้อีกเยอะ แม้จะแข่งดุเดือด แต่มั่นใจว่าเทคโนโลยี IBM เป็นขั้นสูงกว่าเจ้าอื่น โดยเฉพาะซีเคียวริตี้ที่มั่นใจได้ว่า จะไม่มีการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ มีซีเคียวริตี้อย่างดี ด้วยความเป็น IBM จะเป็นจุดแข็งที่จะทำตลาดในไทยและอินโดไชน่าได้ดี

Q : ความท้าทาย

จะทำอย่างไรให้แบรนด์ IBM รู้สึกเข้าถึงได้ ไม่อย่างนั้นลูกค้าก็จะมองว่า IBM แพง ทั้งที่เป็นโซลูชั่นที่ครบคุ้ม ยุคนี้ลูกค้ามีทางเลือกมาก ต้องทำให้ IBM เป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ไม่ใช่เฉพาะองค์กรใหญ่ เพราะ IBM ซัพพอร์ตได้ทุกกลุ่มลูกค้า ภาพของ IBM ที่เป็นระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ใหญ่โตถึงจะใช้ จากนี้ต้องทำให้เข้าถึงทุกอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ตัวสำนักงาน IBM ก็จะเปิดเป็นโอเพ่นสเปซมากขึ้น ให้สตาร์ตอัพใหม่ ๆ เข้าถึงเราได้มากขึ้น

Q : แรงงานถูกทดแทนด้วยไอที


ต้องปรับตัวแล้วจะอยู่ได้ อย่างแม่บ้านต่อให้ทำอาหารเป็นอย่างเดียว วันนี้ก็หารายได้จากเทคโนโลยีได้ เช่น อัพคลิปสอนทำอาหาร ฉะนั้น ทุกคนต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น อีกทักษะสำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูล อาจจะไม่ต้องถึงขั้นไปเรียนลึกด้านเทคนิค แต่ต้องรู้ว่าจะจัดเก็บข้อมูลอย่างไร จะนำเอาเทคโนโลยีอย่างไรมาใช้กับสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างไร ยุคนี้มีโปรแกรมสำเร็จดี ๆ ที่จะช่วยในการโค้ดดิ้งโปรแกรมต่าง ๆ ที่จะต่อยอดได้ง่ายขึ้นแล้ว เป็นยุคที่ธุรกิจจำเป็นต้องต่อยอด ไม่อย่างนั้นจะอยู่ไม่รอด