สตาร์ตอัพฟินเทคยังเนื้อหอม กสิกรดัน “บีคอน” ร่วมทุนจิตตะ

“บีคอน เวนเจอร์ฯ” มั่นใจสตาร์ตอัพไทย “จิตตะ” ทุ่ม 200 ล้าน ปั้นยูนิคอร์น WealthTech ย้ำแบงก์ไม่ใช่คู่แข่ง เร่งสปีดสร้างโปรดักต์สู้คู่แข่งต่างประเทศ แนะภาครัฐหนุนให้ความรู้ลงทุนรับสังคมสูงวัย

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เปิดเผยว่า “บีคอน เวนเจอร์ฯ” เป็นบริษัทร่วมลงทุนในเครือกสิกรไทย ได้ร่วมลงทุน 200 ล้านบาทกับ “จิตตะ” สตาร์ตอัพ “WealthTech” มีจุดเด่นด้านอัลกอริทึ่มที่ดี ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประมวลผลและได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ดีมาก ทั้งขยายธุรกิจได้จึงน่าจะเป็นสตาร์ตอัพไทยที่มีโอกาสมีมูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็น “ยูนิคอร์น”

ด้านนายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งจิตตะ กล่าวว่า Jitta เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์ให้ข้อมูลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยวิเคราะห์งบการเงินย้อนหลัง เพื่อทำ Jitta Score ให้คะแนนบริษัท และบอกมูลค่าของหุ้นที่เหมาะสมด้วย Jitta LINE และ Jitta Ranking จัดอันดับหุ้นน่าลงทุน และเตรียมเปิดบริการ “Jitta Wealth” บริหารกองทุนหุ้นอัตโนมัติ ที่จะเป็นช่องทางการสร้างรายได้ปัจจุบัน ให้บริการแล้วใน 16 ประเทศ ครอบคลุม 26 ตลาดหุ้นทั่วโลก คิดเป็น 95% ของตลาด มีผู้ใช้งาน 200,000 ราย จาก 128 ประเทศทั่วโลก โต 80% มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,200 ล้านบาท โดยพบว่าผู้ที่ลงทุนใน Jitta Ranking ช่วยให้ได้รับผลตอบแทน 22.89%

ขณะที่ค่าเฉลี่ยตลาดได้รับผลตอบแทน 12.69% สำหรับโมเดลรายได้เดิมให้ผู้ใช้บริการจ่ายเงินสำหรับข้อมูลเพิ่ม แต่มองว่าไม่ยั่งยืนจึงหันมาให้บริการฟรีตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่ไตรมาส 2 ปีนี้จะได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.ให้บริการ “Jitta Wealth” ทำให้มีรายได้เพิ่มจากค่าบริหารกองทุนและค่าบริการ ตั้งเป้า 2 ปี ขยายบริการครอบคลุมทุกระดับเงินลงทุน

“Jitta Wealth จะเปิดแค่ไทย อเมริกา และเวียดนามก่อน ในเบื้องต้นมีคนสนใจลงชื่อลงทุนใน Jitta Wealth หลักหมื่นรายในไทย และขยายตลาดในอินเดียและสิงคโปร์ ภายใต้แนวคิดลงทุนอย่างสบายใจ ทำกำไรอย่างยั่งยืน”

โดยในประเทศไทยมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแลสุทธิ (assets under management) 6 ล้านล้านบาท เติบโต 7.6% ในปีที่ผ่านมา ส่วนทั่วโลกมีมูลค่า 2,500 ล้านล้านบาท และมีคนไทยเปิดบัญชีลงทุนแค่ 6 ล้านคน ทั้งกลุ่มคนที่มีเงินฝากนิ่ง ยอดเงิน 1 แสนถึง 10 ล้านบาท มี 8.7 ล้านบัญชี เป็นเงินรวมกัน 5.7 ล้านล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มรวมเกือบ 12 ล้านล้านบาท เป็นตลาดที่ใหญ่มาก “อีกสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนคือ การให้ความรู้คนในการลงทุน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”

สำหรับการลงทุนในฟินเทค คิดเป็น 50% ของการลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลก แต่ในไทยยังแค่ 10% ขณะที่ฟินเทคต่างประเทศเข้ามาบุกตลาดไทยมากขึ้น ฟินเทคไทยต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันให้ได้

สำหรับบีคอนฯตั้งมา 2 ปี มีขนาดกองทุน 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีราว 50% ครึ่งหนึ่งเป็นฟินเทค อาทิ FlowAccount บัญชีออนไลน์ และ InstaReM แพลตฟอร์มโอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น และปีนี้จะมีอีก 2 โครงการที่จะร่วมลงทุน