สนช. ลงมติ 161 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเวลา 10.58 น. วันที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นผู้เสนอ  มีผลให้ร่าง พ.ร.บ. นี้พร้อมบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาทันที

โดย สมาชิก สนช. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 166 คน ลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ 161 คน ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย และมีสมาชิก 5 คนงดออกเสียง

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือ กำหนดให้การเก็บรวบรวม การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน  และสามารถถอนความยินยอมได้ในภายหลัง  รวมถึงเจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้ลบหรือทำลายเมื่อการเก็บ ใช้ เปิดเผย ทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเมื่อถอนความยินยอม

โดยหลังจากประกาศใช้จะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยประธานจะได้มาจากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหา

มีปลัดกระทรวงดีอีเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่งคือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อัยการสูงสุด  และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คน

นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะต้องมีการออกประกาศที่เป็นกฎหมายลูกอีกราว 30 ฉบับเพื่อกำหนดระเบียบวิธีการต่างๆ

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัล ที่กระทรวงดีอีเป็นผู้เสนอ ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาแม้ว่าจะมีการบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2562  โดยในการประชุมวันที่ 28 ก.พ. 2562 ได้ถูกบรรจุเป็นวาระการประชุมในลำดับที่ 3