“กสทช.-สธ.” นำร่องTeleHealthเชื่อมแพทย์เชี่ยวชาญช่วย”รพ.สต.”รักษา 4 โรคหลักลดเหลื่อมล้ำ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การกำหนดแนวทางการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (Telehealth) ในพื้นที่เน็ตชายขอบ นำร่อง 8 จังหวัด 15 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 4 คลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต ขนาดใหญ่) และ 5 โรงพยาบาลชุมชน (รพช.)


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ของ กสทช. ได้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายไปสู่ รพ.สต. และสนับสนุนการใช้งานฟรีเป็นเวลา 5 ปีอยู่แล้ว เพื่อเป็นการต่อยอดการใช้เทคโนโลยีผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการ Telehealth นำนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรค ระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

โดยนำร่องใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต ขนาดใหญ่) จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 5 แห่ง และ โรงพยาบาลประจำจังหวัด จำนวน 8 แห่ง รวมถึงศูนย์เฉพาะทางโรคตา ศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง ซึ่งจะเริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายใน 6 เดือนจากนี้ เน้นใน 4 โรคหลักคือ เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 75% ของคนไทย และโรคที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ โรคทางจอตา เป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคเบาหวาน และโรคผิวหนัง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 439 คน แต่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 2,065 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.7 เท่า ส่วนแพทย์เฉพาะทาง จากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วนจักษุแพทย์ 1 คนต่อประชากร 47,900 คน และจำนวนแพทย์ผิวหนังในประเทศไทยไม่รวมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีแพทย์ประมาณ 100 คนเท่านั้น ทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งคาดว่า โครงการนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้กว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบนี้จะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลรัฐ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ของประชาชน แต่ยังเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้จาก รพ.สต. ใกล้บ้าน

“ปัจจุบันใน 4 โรคหลักที่อยู่ในโครงการ Telehealth แพทย์ของ รพ.สต. กว่า 80% สามารถรักษาได้ แต่การใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วย จะทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนขึ้น สามารถได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด หรือแพทย์เชี่ยวชาญโรคผิวหนังจากสถาบันโรคผิวหนังในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม) ที่เชี่ยวชาญโรคตา ซึ่งหากพบว่า ผู้ป่วยต้องการการรักษาที่ซับซ้อนขึ้น กระทรวงฯ มีระบบส่งต่อคนไข้แบบไร้รอยต่อรองรับอยู่แล้ว”