ค่ายมือถือเกี่ยงซื้อคลื่น700 กสทช.ลุ้นเอกชนยอมถอย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.(แฟ้มภาพ)
ค่ายมือถือเกี่ยงซื้อคลื่น 700 MHz พ่วงยืดจ่ายค่าประมูล “เอไอเอส” รอมติบอร์ด 9 พ.ค.ชี้ชะตา “ทรู” ชี้เพิ่มภาระผู้ประกอบการ เลขาฯ “กสทช.” ย้ำคลื่นขายไม่ออก “ทีวีดิจิทัลแห้วค่าชดเชย-มือถืออดยืดจ่ายหนี้” ชงร่างหลักเกณฑ์ขึ้นเว็บประชาพิจารณ์ 14 พ.ค.นี้ รวบรัดทุกกระบวนการจบในสิ้น พ.ค.

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าบริษัทจะเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ตามเงื่อนไขของคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ แม้จะให้สิทธิค่ายมือถือยืดการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz ด้วยการปรับงวดจ่ายเงินจาก 4 งวด เป็น 10 งวด ได้ผู้ที่เข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยต้องแจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิก่อนวันที่ 10 พ.ค.นี้

บอร์ดจะมีการประชุมอีกครั้งวันที่ 9 พ.ค.นี้ ตอนนี้จึงยังบอกไม่ได้ว่าเอไอเอสจะเอาคลื่น 700 MHz หรือไม่”

ด้านนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กรบริษัทเดียวกัน กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ปัจจุบันยังไม่สามารถนำมาใช้กับคลื่น 700 MHz ได้ จึงต้องรอความพร้อมของอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องลูกข่าย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี แต่ถ้าเป็นคลื่นย่าน 2600 MHz หรือ 3400 MHz พร้อมใช้กับ 5G ได้เลย

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มทรู เปิดเผยว่า บริษัทจะมีการประชุมฝ่ายบริหารเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการพิจารณาเงื่อนไขในการยืดชำระค่าประมูลคลื่น คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนเส้นตายของ กสทช.

คลื่น 700MHz ที่พ่วงเข้ามา ไม่ได้เป็นราคาถูก คลื่นที่เรามีก็ให้บริการ 5G ได้ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะรับเงื่อนไขหรือไม่ ต้องรอบอร์ดฯพิจารณา”

นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิด 5G ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาครัฐในการทดลองทดสอบมาตลอด แต่การจัดสรรคลื่นเพื่อสนับสนุนการเปิด 5G ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำคลื่นย่านใดเป็นคลื่นหลัก ที่ใช้ได้มีทั้ง 3.5 GHz, 2800 GHz หรือ 2600 MHz แต่ย่าน 700 MHz ที่สำนักงาน กสทช.เตรียมจัดสรรยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที เพราะช่องทีวีใช้อยู่ ทั้งเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ที่มีจุดเด่นด้านความครอบคลุมพื้นที่ ควรนำมาใช้งานหลังเปิดบริการจุดหลักแล้ว

“5G ควรเริ่มต้นที่คลื่นความถี่สูง 3.5 GHz หรือ 2600 MHz เป็นหลัก การนำคลื่น 700 MHz มาจัดสรรแบบเป็นเงื่อนไขบังคับเพื่อแลกเปลี่ยนกับความต้องการในการขยายเวลาการชำระเงินของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ไม่เอื้อให้เปิด 5G ได้เร็วขึ้น แต่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการทั้งที่คลื่น 700 MHz ยังไม่จำเป็นสำหรับการทำ 5G ในช่วงแรก”

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช.ยังไม่มีรายละเอียดมากไปกว่าจะเปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ที่มูลค่าเบื้องต้น 25,000-27,000 ล้านบาทต่อไลเซนส์ มีสิทธิใช้คลื่น 15 ปี จ่ายเงินประมูลงวดแรก 1 ต.ค. 2563

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า กำลังพิจารณากฎเกณฑ์ตามมาตรา 44 ที่ออกคำสั่งมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อตัดสินใจให้ทัน 10 พ.ค.นี้ สำหรับคลื่น 700 MHz ดีแทคเห็นว่าควรเลื่อนการจัดสรรออกไปจนกว่า กสทช.จะจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ชัดเจน รวมถึงกำหนดช่วงเวลาในการนำคลื่นมาจัดสรร และกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่อย่างยุติธรรมให้เสร็จก่อนที่จะดำเนินการประมูลหรือจัดสรรคลื่นอีกครั้ง ทั้งนี้ การสร้างโครงข่าย 5G ที่สมบูรณ์ต้องใช้คลื่นความถี่ย่านต่าง ๆ จำนวนมากและการลงทุนสูง เพื่อขยายโครงข่ายบริการและสร้างระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพ

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมนำร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 MHz ซึ่งมีทั้งมูลค่าคลื่น, งวดการชำระเงิน และกำหนดวันยื่นขอรับจัดสรรคลื่น เป็นต้น ขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กสทช. เพื่อดำเนินการประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะมีการจัดสรรคลื่นตามคำสั่ง คสช. ให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ทั้งหมด

สำหรับการจัดสรรคลื่น 2600 MHz น่าจะเกิดขึ้นราวเดือน ต.ค.นี้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการกำหนดมาตรการเยียวยาการเรียกคืนคลื่นให้กับ บมจ.อสมท ที่ถือสิทธิใช้งานคลื่นอยู่

“ค่ายมือถืออยากได้คลื่น 2600 MHz มากกว่า แต่ตามคำสั่ง คสช. ระบุเป็นคลื่น 700 MHz จะนำมาเยียวยาช่องทีวีดิจิทัลได้ ถ้านำคลื่น 2600 MHz มาประมูลต้องนำไปเยียวยา อสมท เป็นหลัก และถ้าจัดสรรคลื่น 700 MHz ไม่สำเร็จ กระบวนการตามคำสั่ง คสช. จะเป็นหมันทั้งหมด ไม่มีเงินไปเยียวยาทีวี การยืดจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ก็ไม่เกิด ค่ายมือถือถือว่าช่วย ๆ กันจะได้จบปัญหาได้ เพราะคลื่น 700 MHz ก็จำเป็นต้องใช้ แต่อาจปี 2565 ไปแล้ว ซึ่ง 5G น่าจะเริ่มไปแล้วกว่า 30%”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!