“กสทช.”ย้ำเส้นตายคืนทีวีดิจิทัล ช่องใหญ่ต้นทุนลด-กอดไลเซนส์

“กสทช.” เดินหน้าเคลียร์สิทธิประโยชน์ทีวีดิจิทัล กรณีคืนไลเซนส์ ย้ำเส้นตาย 10 พ.ค. ยื่นเอกสารครบเร็วมีโอกาสได้เงินเยียวยาภายใน 90 วัน พร้อมดึงเงินกองทุน กทปส.จ่ายก่อน “วงใน” ชี้ช่องทีวีที่พอทำกำไรได้ไม่คุ้ม เหตุต้นทุนธุรกิจลดฮวบ เคาะตัวเลขเงินเยียวยาช่องเด็กมีสิทธิได้เกือบ 200 ล้านบาท ช่องข่าว 300-400 ล้านบาท ลุ้น 3-5 รายคืนช่อง

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลสบายใจได้ เพราะมีค่ายมือถือมายื่นแสดงควาามจำนงขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz แล้ว 1 ราย ฉะนั้นมีเงินมาเยียวยาแน่นอน แต่ถึงยังไม่จัดสรรคลื่นก็เบิกเงินค่าชดเชยได้ก่อนเลย โดยใช้เงินกองทุน กทปส. ซึ่งจ่ายให้ได้ทันที เมื่อบอร์ด กสทช.กำหนดวันยุติออกอากาศของแต่ละช่อง คาดว่าจะใช้เวลาอีก 90 วัน หลังวันที่ 10 พ.ค.นี้ และอาจเร็วขึ้นได้อีก หากช่องที่ขอคืนยื่นเอกสารมาครบ

ส่วนที่มีข้อทักท้วงว่า กสทช.จ่ายค่าเยียวยาให้ทีวีดิจิทัลมากไปนั้น ยืนยันว่า การได้ช่องคืนมายิ่งได้คลื่นไปประมูลโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นอีก รัฐไม่ได้เสียประโยชน์อะไร คลื่นมีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นรัฐจึงได้ประโยชน์มากกว่า แถมยังแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลด้วย หากมีการคืนช่องมากจนต้องปิดโครงข่ายจะมีการชดเชยผู้ให้บริการด้วย โดยใช้เงินจากการจัดสรรคลื่นมาจ่าย

“ช่องที่จะไปต่อต้องจ่ายเงินประมูลงวด 4 ตามประกาศประมูลช่องเดิมให้ครบก่อน”

ช่องที่กำไร-คืนไม่คุ้ม

แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเกณฑ์เยียวยาของ กสทช. ที่ประกาศออกมาประเมินว่า หากเป็นช่องทีวีที่ผลประกอบการพอมีกำไรอยู่บ้างอาจไม่คุ้มค่าที่จะคืนช่อง เนื่องจากได้เงินเยียวยาที่คำนวณจะช่วงเวลาไลเซนส์ที่เหลืออยู่ลดลง และหากออกอากาศต่อไปจะมีต้นทุนแค่ค่าคอนเทนต์และค่าบุคลากรเท่านั้น เนื่องจากตามคำสั่ง คสช. จะได้เงินอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายในการออกอากาศภาคพื้นดินและดาวเทียมตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลือ แม้ในการชี้แจงและตามประกาศของ กสทช.ครั้งล่าสุดจะยังไม่ระบุว่าช่องที่ไปต่อจะได้รับเงินอุดหนุนใดเพิ่มหรือไม่ แต่ตามคำสั่ง คสช.ข้อที่ 2 ระบุให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช.วินิจฉัยได้ เท่าที่เลขาธิการ กสทช.ระบุคือ อย่างน้อยไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลในงวดที่ 5 และ 6 ตามเกณฑ์ประมูลเดิม

“เท่ากับช่องเด็กและครอบครัวไม่ต้องจ่ายเงินประมูลอีกราว 110 ล้านบาท ช่องข่าวเกือบ 200 ล้านบาท ช่องวาไรตี้เกือบ 800 ล้านบาท แต่ถ้าตัดสินใจคืนช่อง เท่าที่คำนวณในส่วนของช่องเด็กน่าจะได้เงินเยียวยาเกือบ 200 ล้านบาท ส่วนช่องข่าวจะได้ราว 300-400 ล้านบาท ส่วนช่องวาไรตี้ ถ้าเป็นช่อง HD ความคมชัดสูงน่าจะไม่มีคนคืน เพราะส่วนใหญ่เริ่มตั้งหลักได้แล้ว ส่วนช่อง SD ความคมชัดปกติ หากคืนอาจได้ราว ๆ 500-600 กว่าล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าที่ผ่านมาขาดทุนมากน้อยแค่ไหน ยิ่งขาดทุนมากก็ยิ่งได้คืนมาก”

ช่องเด็กดีรอลุ้นเงินคืน

ด้านนายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อมูลที่ กสทช.ชี้แจงยังเน้นที่ช่องที่ต้องการขอคืนใบอนุญาต ขณะที่ช่องที่ต้องการทำธุรกิจต่ออย่างกลุ่มทรูยังเดินหน้ากลยุทธ์เดิมที่มุ่งใช้ช่องทางสื่อภายในมือเพื่อซินเนอร์ยีกับธุรกิจทั้งเครือ

แหล่งข่าวช่องทีวีดิจิทัลอีกรายระบุว่า ช่องทีวีที่ต้องการทำธุรกิจต่อยังต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดในการจ่ายเงินงวดที่เหลือ เนื่องจากมีบางส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิขยายงวดจ่ายเงินตามคำสั่ง คสช.ก่อนหน้านี้ เท่ากับได้จ่ายเงินบางส่วนไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะได้รับเงินส่วนนี้คืนเมื่อใด รวมถึงแบงก์การันตีที่วางไว้ต่างจากผู้คืนช่องที่ชัดเจนแล้วว่า น่าจะได้เงินเยียวยาราวเดือน ส.ค.นี้

“กลายเป็นว่าคนที่จะทำธุรกิจต่อ งงและสับสนกว่าคนที่จะเลิกอีก แถมมีแววจะได้เงินคืนช้ากว่าด้วย”

ไม่กระทบเม็ดเงินโฆษณา

แหล่งข่าวทีวีดิจิทัลอีกรายกล่าวว่า คาดว่าจะมีช่องทีวีคืน 2-3 ช่อง และไม่ส่งผลกระทบกับช่องที่เหลือมากนัก เพราะส่วนใหญ่มีเรตติ้งน้อย และมักได้เม็ดเงินโฆษณาไม่มากอยู่แล้ว จึงไม่มีผลทำให้ช่องที่เหลือได้โฆษณาหรือมียอดผู้ชมมากขึ้น

กองทุนพร้อมจ่ายเยียวยา

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) ยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการที่จะคืนช่องก่อนได้เงินจากการจัดสรรคลื่น 700 MHz แม้ยังมีภาระผูกพันต้องเบิกจ่ายเงินในโครงการเน็ตชายขอบและเน็ตประชารัฐเฟสใหม่ แต่ถ้ามีการคืนจำนวนมาก และแต่ละช่องมียอดเงินเยียวยามากกว่า 400 ล้านบาท ก็อาจมีบางส่วนต้องรอให้จัดสรรคลื่น 700 MHz ก่อน

คาดคืน 5 ช่อง

นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบรท์ทีวี จำกัด ผู้บริหารช่องไบรท์ทีวี กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้ทั้งสองส่วน คือ คืนและไม่คืนช่อง โดยกลุ่มที่จะคืนคาดว่าจะมีแค่ 5 ช่อง เนื่องจากค่าชดเชยที่จะได้ก็ค่อนข้างจูงใจ เช่น ถ้าคิดแล้วได้ชดเชย 200-300 ล้านบาท เท่ากับไม่มีต้นทุนค่าคอนเทนต์และบริหารจัดการต่าง ๆ และมีเงินเหลือ แต่ถ้าเดินต่อตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออีก 10 ปี ก็อาจมีรายได้น้อยกว่าเงินชดเชยที่ได้ เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณายังกระจุกตัวอยู่ที่ 10 ช่องใหญ่

“ถ้าท้ายที่สุดแล้ว มีผู้ประกอบการหลายรายคืนช่องและเหลือผู้เล่นแค่ 12-15 ช่อง จาก 22 ช่อง จะสร้างสมดุลให้ตลาดโฆษณา เพราะที่ผ่านมาเม็ดเงินส่วนนี้ก็ไม่ได้โตขึ้น”

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่จะอยู่ครบทั้ง 22 ช่อง เพราะจากนี้ไปจะไม่มีต้นทุนด้านโครงข่ายและใบอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมาหลายช่องมีโมเดลในการหารายได้อยู่แล้ว

และในส่วนไบรท์ทีวี นายสมชายย้ำว่า ยังให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะคืนหรือไม่คืนช่อง ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งสองแนวทาง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับมติของบอร์ดบริหาร

“ตอนนี้ไบรท์ทีวีขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 700 ล้านบาท แต่แนวโน้มของรายได้ตั้งแต่ปี 2557-2561 โตขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะรายได้จากช่องทางออนไลน์”

นายสมชายขยายความต่อว่า กรณีถ้าคืนช่อง บริษัทพร้อมนำคอนเทนต์ไปออกอากาศบนออนไลน์ทันที เพราะทุกวันนี้ในแง่รายได้และจำนวนคนดูจากช่องทางนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ของตลาด อีกทั้งยังคาดว่าจะได้ค่าชดเชยคืนจาก กสทช.อีกประมาณ 400 ล้านบาท แต่ถ้าไม่คืนก็สามารถเดินต่อได้เช่นกัน เพราะเท่ากับไม่มีต้นทุนค่าโครงข่าย และใบอนุญาต ซึ่งไบรท์ทีวีจะเหลือแค่ต้นทุนจากการผลิตคอนเทนต์เอง และจากการจ้างพนักงานอีก 7-8 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น และไม่มีต้นทุนจากการซื้อคอนเทนต์

“บีอีซี” ทบทวนแผนคืนช่อง

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ กล่าวว่า คงต้องกลับไปพิจารณารายละเอียดจากหลักเกณฑ์ที่ได้จาก กสทช.อีกครั้ง แต่บริษัทจะคืนหรือไม่คืนช่องไม่ส่งผลต่อแผนธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอริยะให้ข้อมูลว่า หากบริษัทไม่คืนช่องก็สามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะ กสทช.จะช่วยจ่ายค่าโครงข่ายให้ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออีก 9 ปี 6 เดือน และไม่ต้องจ่ายค่างวดที่เหลืออีก 2 งวด เท่ากับว่าประหยัดเงินลงทุนได้อีก 2,000 กว่าล้านบาท

คิดหนัก คุ้มไม่คุ้ม

ด้านนายปารเมศ เหตระกูล กรรมการ บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารช่องนิวส์ทีวี กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะคืนหรือไม่คืนช่อง เนื่องจากต้องรอประชุมบอร์ดบริหารก่อน โดยนำหลักเกณฑ์ที่ กสทช.ชี้แจงในการพิจารณาอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ นายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานสนับสนุนองค์กร บมจ.อสมท ผู้บริหารช่องเอ็มคอท 30 เอชดี และช่อง 14 แฟมิลี่ กล่าวสั้น ๆ ว่า ยังให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เนื่องจากต้องรอมติจากที่ประชุมบอร์ดบริหาร แต่ในแต่ละปีใช้เงินลงทุนกับช่อง 14 แฟมิลี่ไม่สูงมากนัก

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่.. ป๋าจัดให้! ประเมินตัวเลขเยียวยา “คืนช่อง” ทีวีดิจิทัล “กสทช.” พร้อมจ่าย ส.ค. นี้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!