3 สมาคมธุรกิจฝากงาน “ดีอี” ปั้นคนพันธุ์ดิจิทัลหนุน SMEs เร่งกม.ลูก

ภาคธุรกิจย้ำรัฐมนตรี “ดีอี” ใหม่ ต้องสานต่อนโยบาย 4.0 สมาคม ISP แนะเร่งคลอดกฎหมายลูก “ไซเบอร์-ข้อมูลส่วนบุคคล” ฟากสมาคมโทรคมนาคมฯเตรียมยื่นแผนปลดล็อกสู่ 5G ขณะที่สมาคมสมองกลฝังตัวฯย้ำต้องเปิดทางผู้ผลิต-นักพัฒนาไทยมีส่วนร่วม อย่าโฟกัสแต่สตาร์ตอัพ 

นางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (ISP) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานที่อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เร่งดำเนินการหลังเข้ารับตำแหน่ง คือ การผลักดันกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ไซเบอร์ซีเคียวริตี้) และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เพิ่งประกาศบังคับใช้เมื่อปลายเดือน พ.ค.และจำเป็นต้องมีกฎหมายลูกที่จะกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ อีกมาก ซึ่งภาคธุรกิจกำลังรอความชัดเจน เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

“พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ กระทรวงดีอีได้เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ก็หวังว่าในการออกกฎหมายลูก ดีอีจะรับฟังความเห็นของภาคเอกชน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่กระทบกับทุกคน”

ขณะที่แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายควรจะนำกรณีศึกษาของต่างประเทศมาปรับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยต้องไม่ใช้อำนาจรัฐในการควบคุมมากจนเกินไป มิฉะนั้น การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันก็จะทำได้ยาก

เร่งสร้างคนพันธุ์ดิจิทัล

แต่ที่สำคัญคือการเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลและมีความเชี่ยวชาญป้อนสู่อุตสาหกรรมให้เพียงพอ เพราะโลกธุรกิจในยุคใหม่ได้เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างธุรกิจและทักษะที่จำเป็นของบุคลากรจากยุคก่อนอย่างมาก ซึ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรจะมีการประเมินโครงการส่งเสริมก่อนหน้านี้ทั้งหมดด้วยว่า สามารถสร้างคนที่ทำงานได้จริงตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด เพื่อมีข้อมูลนำไปปรับปรุงแนวทางพัฒนาต่อไป

เตรียมพร้อมสู่ 5G

ด้าน “ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ” กรรมการและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางสมาชิกสมาคมได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมจัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เป็นการสรุปผลการศึกษาของสมาคมให้กับรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงรัฐมนตรีดีอี โดยคาดว่าจะจัดทำข้อเสนอทั้งหมดได้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์

“ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมขณะนี้ คือ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G รวมถึงการพัฒนาด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญด้วย”

เปิดโอกาสนักพัฒนาไทย

ขณะที่ “ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ” นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง TESA ได้มีการหารือร่วมกับหลายสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมรวบรวมแผนยุทธศาสตร์ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งแนวคิดหลักที่ตัวแทนสมาคมต่าง ๆ เห็นตรงกัน คือ อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและนักพัฒนาไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนตามนโยบาย 4.0 โดยเฉพาะสมาร์ทซิตี้ อาจจะมีการกำหนดสัดส่วนการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทยด้วย ไม่ใช่เน้นที่การซื้อเทคโนโลยีของต่างชาติอย่างเดียว

“ผู้ผลิตและนักพัฒนาไทยมีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งที่ผลลัพธ์ เน้นให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นการเร่งจัดซื้อมาติดตั้ง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักพัฒนาของไทยที่มีศักยภาพ ทำให้อุตสาหกรรมไทยพลาดโอกาสในการเติบโต จึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของการใช้เทคโนโลยีในประเทศด้วย”

ขณะเดียวกัน ควรจะมีการสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่ของตนเอง และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

“โครงการของภาครัฐมีประโยชน์ แต่ไม่อยากให้ใช้แพตเทิร์นเดียว อาทิ สมาร์ทซิตี้การเริ่มต้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดี แต่ต้องมีขยายให้ครอบคลุมลงไปถึงธุรกิจของเมืองนั้น ๆ ให้ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จริงจัง ไม่ใช่เป็นการลงทุนทำสมาร์ทซิตี้เพื่อโชว์อย่างเดียว แต่จะต้องทำดาต้าอินทิเกรตจากทุก ๆ ส่วนของเมือง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการต่อยอดได้อีกมหาศาล”

อย่าลืม SMEs เร่งหนุนให้สตรอง

ที่สำคัญคือควรเพิ่มการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยที่มีอยู่แล้ว ที่เป็นระดับ SMEs ได้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่สตาร์ตอัพอย่างเดียว

“ยังไม่เห็นการผลักดันให้ถึงปลายทางอย่างที่สุด อย่างกลุ่ม SMEs ซึ่งทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยังสเกลไม่ได้ เพราะขาดทักษะในบางด้านที่จะทำให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อาทิ การขาดทักษะในการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ถ้ารัฐเข้ามาช่วยตรงนี้ก็จะทำให้เขาโตได้อย่างสตรอง ไม่ใช่มุ่งแต่สตาร์ตอัพ ซึ่งมีโอกาสจะอยู่รอดได้น้อย”

รวมถึงการให้ความสำคัญกับบริษัทเทคโนโลยีของไทย ซึ่งปัจจุบันมีหลายแห่งที่มีศักยภาพสูง แต่ยังไม่ได้รับการผลักดันให้เติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

“เทคโนโลยีด้านสมองกลฝังตัว ในธุรกิจด้าน self service ของบริษัทไทยไม่แพ้ใครในโลก และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ อย่างโซลูชั่นระบบติดตามเรือประมงที่บริษัทไทยทำขึ้น ยังได้รับการยกย่องจาก UN แต่ไม่เป็นที่รู้จักในตลาดไทย จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมส่วนนี้บ้าง”