AIS เฮ! ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนประกาศ “กสทช.”บังคับส่งรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำกว่าสัมปทาน

รายงานข่าวจากศาลปกครอง แจ้งว่า วันที่ 11 กันยายน 2562 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอน ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) เฉพาะในส่วนที่ระบุให้ผู้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด หลังจากประกาศบังคับใช้ ต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการในช่วงเวลาเยียวยาผู้บริโภคเป็นรายได้แผ่นดินจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการเคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

สำหรับคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2227/2558 ที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) และคดีหมายเลขดำที่ 2230/2558 ที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งทั้งสองคดีได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค) ซึ่งปัจจุบันคือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศเยียวยา) เนื่องจากเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ประกาศเยียวยา กำหนดให้ผู้รับสัมปทานที่เปิดให้บริการแก่ผู้บริโภคต้องนำส่งรายได้ในอัตราที่เฉพาะเจาะจงโดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับผู้ให้บริการในช่วงเวลาที่มุ่งให้เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร ทั้งยังมีข้อเท็จจริงของการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป การกำหนดอัตราดังกล่าวจึงเป็นไม่เป็นธรรม

ทั้งในกระบวนการตรวจสอบรายได้ กสทช. ยังได้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเห็นว่า ผู้ให้บริการทำไม่ถูกต้องก็สามารถจะทักท้วงให้แก้ไขได้ ฉะนั้นเมื่อ ประกาศฯ ได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบไว้อย่างชัดเจนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดอัตรารายได้ที่ต้องนำส่งรัฐ

ขณะเดียวกันการกำหนดอัตรานำส่งรายได้โดยไม่คำนึงถึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของประกาศฯ และไม่เป็นธรรม