Behind the Scenes 5G ติดสปีด AIS สร้างบ่อน้ำมันใหม่

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)

ทั้งก่อนและหลังประมูลใส่กันเต็มเหนี่ยวเร่งเกม 5G ให้ร้อนฉ่าขึ้นโดยพลัน ทันทีที่บอร์ด “กสทช.” รับรองผลประมูล (19 ก.พ.) “เอไอเอส” ไม่รอช้าประกาศว่า การคว้าคลื่นมาเติมในพอร์ตครบทั้ง 3 ย่าน ทำให้เป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นมากที่สุด รวม 1420 MHz เทียบชั้นเวิลด์คลาส ถัดมาอีกวันก็นัดจ่ายค่าคลื่นโชว์ความพร้อมด้านการเงิน และเปิดตัวเครือข่าย โดยบอกว่าเป็น “Official First 5G Network in Thailand”

แค่เริ่มต้นยังร้อนแรงถึงเพียงนี้

ซีอีโอ 2 แสนล้าน เปิดใจ “5G คุ้มค่า”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บอกกับ “ประชาชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่มานั่งเป็นซีอีโอ เอไอเอส จนถึงการประมูลคลื่นครั้งล่าสุดรวมเฉพาะค่าคลื่น ตนเคาะประมูลไปแล้วเป็นเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท

“ในแง่ราคาเราถือว่าสมเหตุสมผล ทุกครั้งของการประมูลจะมีผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษามาวิเคราะห์ดูว่า ถ้าต้องเอาคลื่นอะไร เอไอเอสต้องเอาด้วยราคาเท่าไร มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าราคาควรเป็นยังไง ทุกคนอาจมองว่าสองแสนล้านเป็นมูลค่าที่สูง”

แต่สำหรับเอไอเอส “สมชัย” ย้ำว่า คุ้มค่ามาก

และการประมูลคลื่น 5G ในครั้งนี้ ถือว่าไม่ได้แข่งกันรุนแรงนักอย่างคลื่น 700 MHz แข่งไปถึงระดับที่เหมาะสม ราคาขึ้นจาก 5 เม็กถึง 17,000 ล้าน เชื่อว่าเป็นเกณฑ์ และแคทเองสามารถต่อสู้ได้ ต่างจากในยุค 900 MHz ราคาขึ้นไปถึง 7 หมื่นกว่าล้าน ผิดปกติจากการที่มีคนเข้ามาเคาะจนโอเวอร์

ทั้งแข่งขันน้อยใน 2600 MHz และ 26 GHz ด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้ คือ หลังจากคู่แข่งไปติดอยู่ที่คลื่นแรก พอคลื่นสองอาจไม่มีเงินพอ ทำให้ 2600 MHz และ 2.6 GHz แข่งน้อยกว่าที่คาดไว้

“เชื่อว่าทุกคนที่เข้าประมูลมีวัตถุประสงค์คนละอย่าง เอไอเอสชัดเจนมีลูกค้า 42 ล้าน เราต้องดูแลฐานลูกค้าของเรา 42 ล้านก็ต้องได้คลื่นมากกว่า บางรายซึ่งหลายคนอาจบอกว่า เขาควรได้มากกว่านี้ แต่เขาอาจมีวิธีทำธุรกิจแบบของเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมองแบบเอไอเอส ผมเชื่อว่าเป็นลักษณะของแต่ละองค์กร ในการมองกลยุทธ์ของตัวเองว่าจะบริหารคลื่นความถี่ ใช้คลื่นความถี่อย่างไร

ทำไมเข้าประมูลทั้งที่บอกว่า 5G เร็วไปสำหรับไทย

“สมชัย”ยังยืนยันความคิดเดิมที่เคยบอกว่า สำหรับประเทศไทย 5G ควรจะรออีกสองปีคือในปลายปีหน้า เพราะ 5G อีโคซิสเต็มจะสมบูรณ์จากนี้ไปอีก 5 ปี

“แต่รัฐบาลอยากผลักดัน 5G ให้เกิดในประเทศ เพราะจะมีแกนเรื่องการแข่งขันในระดับประเทศ ทำให้ประเทศเรามีความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ประกอบการทุกคนก็ยินดีสนับสนุน”

อีกประเด็น คือ คลื่นเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับคนทำธุรกิจนี ้และเอไอเอส ก็มองเห็น เมื่อมีโอกาสในการจัดสรรคลื่นมา ก็มีที่ปรึกษามาดูว่าควรต้องได้เท่าไร จึงเป็นเหตุให้เข้าไปประมูลคลื่นตรงนี้

Chapter ต่อไปของเอไอเอส

เมื่อประมูลคลื่นมาเติมพอร์ตได้สำเร็จทำให้ “เอไอเอส” วันนี้ประกาศตัวได้ว่า “เป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่มากที่สุด” และรองรับลูกค้าซึ่งมากที่สุดด้วยได้อย่างดีด้วย

“ทำให้เรามีความแข็งแรง ต้องยอมรับว่าเราเป็นผู้ให้บริการที่ทำงานอยู่บนความยากลำบากมายาวนาน เนื่องจากมีคลื่นน้อย ขณะที่มีลูกค้าจำนวนมาก วันนี้เมื่อเรามีคลื่นมากแล้ว จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น ทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น”

เพราะคลื่นที่เพิ่มเข้ามารวมกับของเดิมทำให้ “เอไอเอส” มีคลื่นเบ็ดเสร็จมากถึง 1420 MHz จะเพียงพอรองรับการใช้งานได้อีก 2-5 ปีข้างหน้า

“วันนี้สิ่งที่เราจะมุ่งมั่นตั้งใจต่อไป คือ ไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนคลื่นเหมือนในอดีตที่ต้องใช้เวลาในการดูเรื่องพวกนี้มาตลอดก็จะสามารถไปพัฒนาเรื่องสินค้าบริการ เรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทำให้มีความแข็งแรงในการที่จะมีทรัพยากรในการทำธุรกิจมากขึ้น”

แม้ในธุรกิจโทรคมนาคมคลื่นความถี่หรือเทคโนโลยีจะมีความสำคัญ แต่ในมุมมองของ “สมชัย” ไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้เอไอเอสเป็นผู้นำตลาดได้เช่นทุกวันนี้

ผู้นำตลาด สไตล์ “เอไอเอส” ยึด 5 แกน

“คลื่นมีแล้วดีแน่ แต่ที่จะสำคัญมากกว่า คือ แกนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลลูกค้า สำหรับผมการเป็นผู้นำตลาดที่ดี ต้องตอบความต้องการของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด เป็นหัวใจของเอไอเอสอยู่แล้ว ผมพูดตลอดว่า เอไอเอสต้องมีเน็ตเวิร์กที่ดี มีเซอร์วิสที่ดี มีแอปพลิเคชั่นดี ๆ ใหม่ ๆ มีพริวิเลจต่าง ๆ ต้องดูแลสังคมทำธุรกิจแบบยั่งยืน เป็น 5 แกนที่ไม่เคยเปลี่ยน”

เพียงแต่วันนี้ การที่มีคลื่นมากขึ้น จะทำให้ทำงานใน 5 แกนนี้ได้ง่ายขึ้น แต่ใครจะชนะในสงคราม 5G ใครจะเป็นผู้นำ 5G

“สมชัย” มองว่า ไม่ใช่อยู่ที่เทคโนโลยีดี หรือคลื่นมาก แต่อยู่ที่ใครจะตอบความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด สร้างประสบการณ์ในการใช้งานกับลูกค้าดีสุด

สงครามการตลาด สงครามความคาดหวัง

“หลังได้คลื่นมา ทุกคนก็จะเห็น คนนี้จะเป็นผู้นำ คนนั้นก็จะเป็น อันนี้เป็นกิมมิกทางการตลาด เป็นความปกติของการตลาด เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคด้วย ถ้ามีการแข่งขันกัน แต่พอแข่งขันไปแล้วอาจเกิดความคาดหวังกับลูกค้า แต่ความคาดหวังกับความเป็นจริง อาจต้องใช้เวลา”

ซีอีโอ “เอไอเอส”กล่าวว่า ทุกคนประกาศว่าจะมี 5G แต่จะมี 5G ที่สมบูรณ์อาจเริ่มเป็นจุดในหัวเมืองใหญ่แล้วค่อยขยายไป อาจใช้เวลาปีสองปีถึงครอบคลุม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ประกอบการทุกรายที่ได้สร้างความคาดหวังนี้ออกไปก็ต้องเร่งส่งมอบสิ่งที่สัญญาให้เร็วที่สุด

“เป็นงานของทุกราย ไม่เช่นนั้นผู้บริโภคจะผิดหวัง เป็นศาสตร์ เป็นหน้าที่ ทุกคนที่แข่งขันต้องส่งมอบให้ได้ด้วย ในแง่การแข่งขันราคา เชื่อว่ายังมีอยู่แต่เป็นเรื่องระยะสั้นในการฉกฉวยทางการตลาด แต่หลังจากมีเซอร์วิสที่มีความแตกต่าง และสามารถแยกออกไปได้แล้ว การแข่งขันราคาจะยุติลง วันนี้ยังมี เพราะยังไม่มีอะไรที่สร้างความแตกต่างกัน”

กลยุทธ์สร้างการเติบโต ไม่โตคนเดียว

“สมชัย”กล่าวว่า ความสำเร็จของ 5G ในมุมมองของเขา เกิดจากการที่ “ลูกค้า”มีประสบการณ์ที่ดีอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่ความเร็ว แต่เป็นเรื่อง latency และ mass IOT ที่อยู่ในแกนของผู้ให้บริการอื่น เช่น การมี latency ต่ำ เป็นการพัฒนา 5G ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น วงการแพทย์ การผลิตรถยนต์ ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ในการใช้ 5G ที่ดีต้องมีแอปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

“หลังจากนี้นอกจากวางเน็ตเวิร์กแบบ 3G 4G แล้ว เราจะต้องทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในทุกอุตสาหกรรม เพื่อนำ 5G ไปทำให้ได้ ซึ่ง 5G เป็นอินฟราสตรักเจอร์สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เราลงทุนอินฟราสตรักเจอร์แล้วก็จะทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เกิดผลลัพธ์ออกมา คือสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้”

สุดท้ายแล้ว “ลูกค้า” จะต้องได้ประโยชน์

“เราเป็นผู้นำเรื่องไวร์เลสอยู่แล้ว พอมี 5G สิ่งใหม่ ๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว ซึ่ง 4G ก็เร็วพอ แต่การมี 5G ก็จะเร็วขึ้น รับชมหนัง 4K ได้ 8K ได้ ทำให้ลูกค้ามีบริการที่หลากหลายใหม่ ๆ ประกอบกับการที่เราประกาศตัวเป็นอีโคซิสเต็ม อยากโตกับพาร์ตเนอร์ อะไรต่าง ๆ ที่ 5G ทำได้ในอุตสาหกรรมอื่น เราจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ต่อไป”

สร้างแพลตฟอร์มคนไทย-บ่อน้ำมันแห่งใหม่

เหนือสิ่งอื่นใด “สมชัย”มั่นใจว่า การสร้าง”บ่อน้ำมัน”หรือแหล่งรายได้ใหม่กับเป้าหมาย “ดิจิทัล เซอร์วิส โพรไวเดอร์” ย่นระยะได้ด้วย 5G เช่นการสร้างเกมแพลตฟอร์มของคนไทยจะเกิดขึ้นได้ดีและเร็วขึ้น เพราะอีสปอร์ตที่เคยแข่งกันแล้วยังลังเลว่าจะชนะหรือแพ้กัน มีความหน่วงหรือเปล่า มี 5G ก็จะโตไปอีก

“การทำงานกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงพยาบาล การผลิตทำให้มีรายได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทำให้มีแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งการโพซิชั่นตัวเองว่าจะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ แบบอีโคซิสเต็ม ทำให้พาร์ตเนอร์ไว้ใจ มั่นใจว่าเอไอเอสจะไม่รุกราน ไม่ระแวงว่าจะไปทำธุรกิจของเขา