บริษัทเทคดังแสดงพลัง ‘น้ำใจ’ ถึงเวลาแบ่งปันในยามวิกฤต

Photo by Sergei BobylevTASS via Getty Images
คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

รัฐบาลทั่วโลกพยายามจัดสรรงบประมาณมาพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล้มละลายเพราะโควิด เอกชนที่นั่งบนกองเงินกองทองขนาดมหึมาก็ควรออกมาช่วยประคองสถานการณ์

Moody’s วิเคราะห์เมื่อปลายปีที่แล้ว ว่าเอกชนในสหรัฐมีเงินสดในมือถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ กว่าครึ่งเป็นของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่าง Apple Facebook Google Amazon และ Microsoft สังคมจึงคาดหวังให้บริษัทที่มั่งคั่งช่วยเหลือสังคม (บ้าง) ในยามวิกฤต ซึ่งหลายแห่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะนาทีนี้ลำพังแค่เยียวยาพนักงานตัวเองแทนที่จะมุ่งมั่นหาเงินไปปันผลให้ผู้ถือหุ้นก็เป็นน้ำใจอันประเสริฐแล้ว

วันนี้เลยมีเรื่องราวของ “น้ำใจ” ในยามยากมาฝากกัน

เริ่มจาก Facebook ที่บริจาคหน้ากากอนามัย 720,000 ชิ้น จ่ายโบนัสพิเศษให้พนักงาน 45,000 คน คนละ 1,000 เหรียญ จ่ายเงินจ้างงาน contract workers ต่อไป แม้จำนวนชั่วโมงจะน้อยลง ริเริ่มกองทุนช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กมูลค่า 100 ล้านเหรียญ และตั้ง Coronavirus Information Center กระจายข้อมูลจาก WHO ผ่านหน้าฟีดของผู้ใช้งาน

Apple บริจาคหน้ากาก 10 ล้านชิ้น ให้ทีมรักษาพยาบาลทั้งในอเมริกาและยุโรป Amazon ปรับ priority ให้ความสำคัญกับการจัดหาสินค้าพื้นฐานพวกอาหาร น้ำดื่ม และยาเป็นหลัก ประกาศจ้างงาน ในศูนย์เก็บและกระจายสินค้า เพิ่ม 1 แสนอัตรา

AirBnB ร่วมกับเจ้าของที่พักในอิตาลีและฝรั่งเศสเปิดบ้านให้แพทย์พยาบาลพักฟรี โดย AirBnB ไม่เก็บค่าธรรมเนียมและช่วยค่าทำความสะอาด 50 ปอนด์

Microsoft พัฒนา โควิด-19 tracker ในรูปแบบแผนที่โลกที่มีข้อมูลอัพเดตรายประเทศ พร้อมข้อมูลยืนยันจาก WHO และเปิดตัว โควิด-19 open research data set รวมบทความวิชาการเกี่ยวกับไวรัสกว่า 29,000 ชิ้น

ส่วน Tesla บริจาคเครื่องช่วยหายใจ 1,200 เครื่อง ให้โรงพยาบาลในแคลิฟอร์เนีย (ตอนแรกจะผลิตเอง แต่ใช้เวลานานไป เลยซื้อแทน) บริจาคหน้ากาก N95 อีก 50,000 ชิ้น

เทคสตาร์ตอัพรายเล็กก็พากันเสนอความช่วยเหลือ เช่น October ฟินเทคจากฝรั่งเศส ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ SMEs 3 เดือน

Just Eat แพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ในอังกฤษ คืน 1 ใน 3 ของค่าคอมมิสชั่นให้ร้านค้าพันธมิตรกว่า 37,000 แห่ง เป็นเวลา 1 เดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านปอนด์

Urban Footprint จากสหรัฐ อาสาเป็นเครื่องมือให้ภาครัฐใช้สำรวจผังเมืองเพื่อจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประชากรที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ

Education Worlds นักเรียนทั่วโลกสามารถพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ผ่าน 12 บทเรียนออนไลน์ ที่มาในรูปแบบของเกมต่าง ๆ โดย Minecraft เปิดให้ใช้ ฟรี ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.

Everlywell ส่งอุปกรณ์เก็บสารคัดหลั่งเพื่อส่งตรวจหาเชื้อไปตามบ้าน  ช่วยให้ขบวนการคัดกรองสะดวก รวดเร็วรู้ผลภายใน 48 ชม. แถมป้องกันการแพร่ระบาด เพราะไม่ต้องแห่มารับการตรวจเชื้อที่ รพ.

โดยหากติดเชื้อ บริษัทจะประสานให้ติดต่อกับแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาต่อไป Everlywell คิดค่าอุปกรณ์ในราคาทุนชุดละ 135 เหรียญ (ใช้ประกันจ่ายได้) และกำลังคุยกับภาครัฐว่าจะแจกจ่ายให้ใช้ฟรี

Air Co. เปลี่ยนโรงงานวอดก้าในนิวยอร์ก เป็นที่ผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อแจกจ่ายให้พนักงานดีลิเวอรี่และผู้ขาดแคลนได้ใช้กันฟรี ๆ

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือจาก tech industry ความจริงอุตสาหกรรมอื่นทั้งรถยนต์ ขนส่ง โรงแรม อาหาร ค้าปลีก ไปจนถึงวงการแฟชั่นทั่วโลกก็ไม่ได้นั่งว่าง ๆ
ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งผลิตหน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ และเจลล้างมือ

แต่ที่น่าประทับใจที่สุด หนีไม่พ้นอาสาสมัครคนธรรมดา แม้ไม่มีเงินทองแต่รวยน้ำใจ อย่างกลุ่มอาสาในอังกฤษกว่า 5 แสนราย ออกเยี่ยมและส่งข้าว ส่งยา ให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน มีแพทย์ที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยอมกลับเข้าร่วมทีมเพื่อรักษาผู้ป่วยอีกครั้ง

เมืองไทยก็มีเรื่องราวดี ๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มอาสาอย่างกลุ่มแม่บ้านที่ช่วยผลิตหน้ากากผ้า ตลอดจนเจ้าของกิจการตัวเล็กตัวน้อยที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามกำลังที่มี
แต่หากเอกชนรายใหญ่ (ที่รวยไม่แพ้ชาติใดในโลก) จะขยับองคาพยพ ตบเท้าออกมาแสดง “น้ำใจ” และบทบาทในการบรรเทาทุกข์ของลูกจ้างและผู้บริโภคอย่างขึงขังอีกสักหน่อย ก็คงจะน่าชื่นใจกว่านี้