ตามคาด! ไทยคม จับมือ “แคท” ลงขันตั้ง “เนชั่น สเปซ” บริษัทร่วมทุนลุยดาวเทียม

หลังจากที่คณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สิน ภายหลังการสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียมไทยคม ในเดือน ก.ย. 2564   และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้แคทเป็นบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติต่อไป  ซึ่งปัจจุบันดาวเทียมภายใต้สัมปทานที่ยังพร้อมให้บริการอยู่และไม่มีข้อพิพาทค้างอยู่คือ ไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ และไทยคม 6 โดยดาวเทียมทั้งสองดวงเป็นดาวเทียมประเภทใช้วงโคจรค้างฟ้า “GEO” Geostationary Orbit

ขณะเดียวกันภายในปลายปีนี้ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เตรียมจะเปิดประมูลวงโคจร GEO สำหรับยิงดาวเทียมดวงใหม่

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า “แคท” จะเดินหน้าให้บริการดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบโดยจับมือเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ไทยคม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563 บมจ.ไทยคม ได้ประกาศความร่วมมือกับ แคท ในการตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ “บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 10,000,000 บาท และมีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่าง ไทยคม และ แคท 75:25 เพื่อร่วมกันให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม อาทิ ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม  เปิดเผยว่า การประกาศจัดตั้ง บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 องค์กร ด้วยความรู้และประสบการณ์อันยาวนานในอุตสาหกรรมด้านดาวเทียมของไทยคม ประกอบกับความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นของแคท จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยี ก่อให้เกิดบริการดาวเทียมรูปแบบใหม่ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัลต่างๆ อย่างแพร่หลาย

ด้านพันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท การสื่อสารผ่านดาวเทียมมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นในโลกปัจจุบัน แคท ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน

“การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาการให้บริการเทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อตอบโจทย์ทุกการสื่อสารหลากหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้น และครอบคลุมทั่วประเทศ”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ  LEO (Low Earth Orbit) จะสามารถรองรับพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในยุค New Normal ได้อย่างลงตัว อาทิ การใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในยุค 5G, การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT (Internet of Things), M2M (Machine to Machine), Drone รวมไปถึง การประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล ซึ่งเทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำจะช่วยลดข้อจำกัดและแก้ไขปัญหาในเรื่องพื้นที่การใช้บริการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกภาคส่วน