กสทช.ดันเต็มสูบ “ดาวเทียมไทยดวงใหม่” เอกชนหวั่นค่าต๋งแพง

กสทช.ดันเต็มสูบ

กสทช.ขีดเส้นต้นปี”64 ได้ผู้ชนะคว้าสิทธิยิงดาวเทียมใหม่ ชงบอร์ดเคาะ “ประมูล-คัดเลือก” ฟากเอกชนร้องอย่าจัดแพ็กขายพ่วง พร้อมขอทบทวนเกณฑ์วางเงินประกันโครงการ-ค่าธรรมเนียมไลเซนส์ หวั่นแข่งตลาดยาก

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในการจัดชุด (Package) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.จะเร่งคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้วงโคจรดาวเทียมที่เป็นสิทธิของประเทศไทย เพื่อปลดล็อกสุญญากาศในกิจการดาวเทียมของประเทศที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2559 หลังการยิงดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นสู่วงโคจร และเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในกิจการนี้ ทั้งยังเป็นการเร่งรักษาสิทธิในวงโคจรดาวเทียมตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

รอเคาะ “ประมูล-คัดเลือก”

โดยจะนำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ออกประชาพิจารณ์ในเดือน ส.ค. นี้ หลังจากนำไปปรับปรุงตามข้อเสนอแนะในการรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม (focus group) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเริ่มกระบวนการจัดสรรในเดือน พ.ย. ก่อนประกาศผู้ชนะการคัดเลือกได้ในต้นปี 2564 โดยจะมีใบอนุญาต 15 ปี

ส่วนรูปแบบการคัดเลือกนั้น ยังต้องรอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการประมูล หรือการคัดเลือกแบบ “ไฮบริด” คือพิจารณาทั้งเกณฑ์ทางด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านประโยชน์ให้กับรัฐกับสาธารณะและด้านการวิจัยพัฒนา คู่กับเกณฑ์ด้านราคา

“กสทช.ไม่ได้เน้นว่าจะหาเงินรายได้เข้ารัฐเยอะ ๆ แต่ต้องการหาผู้ที่จะนำตำแหน่งวงโคจรไปใช้ประโยชน์และรักษาสิทธิของประเทศมากกว่า”

จัดแพ็ก 4 ชุด

เบื้องต้นจะนำ 7 ตำแหน่งวงโคจรที่ไม่มีผู้ใช้งานอยู่มาจัดเป็น 4 ชุด เพื่อนำออกจัดสรร ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5 ตะวันออก กับ 51 ตะวันออก ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5 ตะวันออก ชุดที่ 3 วงโคจร 119.5 ตะวันออก กับ 120 ตะวันออก และชุดที่ 4 วงโคจร 126 ตะวันออก กับ 142 ตะวันออก

“ตำแหน่งที่ 50.5E และ 142E ถือเป็นจำเป็นเร่งด่วนเพราะใกล้ครบเวลาที่ ITU ให้สิทธิไว้แล้ว ส่วนวงโคจร 78.5E เป็นของไทยคม 5 ที่ปลดระวางแล้วและ 119.5E ของไทยคม 4 ที่มีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2566 เป็นการนำมาจัดสรรล่วงหน้า”

ส่วนวงโคจรที่พร้อมจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ได้ทันทีคือ 50.5E 51E 126E และ 142E จึงน่าจะมีเอกชนสนใจ

หนักใจกลัวเอกชนเมิน

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หากไม่มีคนสนใจหรือเข้าไม่ครบ ก็อาจจะพิจารณาปรับลดราคาลง แต่ยืนยันว่า ตัวเลขมูลค่าที่ประเมินไว้ไม่สูง หลัก ๆ คือจะคิดจากค่าใช้จ่ายที่แต่ละสลอตเคยยื่นขอไฟลิ่งกับ ITU เพราะหากคิดราคาสูง ๆ ถ้าไม่มีใครสนใจเลยจะยิ่งหนัก จึงพยายามประเมินจากสิ่งที่ต้องจ่ายให้กับ ITU จริง ๆ เท่านั้น เพื่อหาคนมารักษาสิทธิดาวเทียมให้ได้มากกว่า นี่ยังกังวลว่า อาจจะมีคนไปเทียบกับระบบสัมปทานที่ไทยคมเคยจะต้องจ่ายให้รัฐถึง 22.5% แต่ต้องเข้าใจว่า ในประเทศอื่น ๆ ไม่มีระบบนี้ ปกติคือรัฐบาลจะให้สิทธิเอกชนไปดำเนินขอวงโคจรดาวเทียมเบ็ดเสร็จทั้งหมดเอง และมีแค่ 2-3 ประเทศทั่วโลกที่ใช้วิธีประมูลวงโคจร จึงต้องหาวิธีที่ทำให้กิจการดาวเทียมไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ด้วย

แต่ถ้าสุดท้ายแล้วยังไม่มีผู้สนใจ รวมถึงภาครัฐเองก็ไม่สนใจลงทุน กสทช.ก็มีสิทธิจะประเมินว่า หากเป็นภาระกับหน่วยงานภาครัฐมากเกินจำเป็น ก็อาจจะต้องสละสิทธิในบางตำแหน่งวงโคจร

ร้องอย่าขายพ่วง

ด้านนายเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานรัฐกิจ บมจ.ไทยคม กล่าวในเวที focus group ว่า กสทช.ไม่ควรนำวงโคจรมารวมจัดแพ็กเกจ แต่ควรเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาตเป็นรายวงโคจร ที่สำคัญควรรีบประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อให้มีเวลาศึกษาโครงการ

“ที่ผ่านมาไทยคมใช้เวลาเป็นปีกว่าจะประเมินมูลค่าโครงการ ถ้า กสทช.ให้เวลาแค่ 30 วันอาจจะไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือกิจการดาวเทียมไม่เหมือนมือถือ การสกรีนคุณสมบัติของคนที่จะขอรับใบอนุญาตก่อนว่า มีเงินและทำเป็น เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงก่อนจะมองว่าจะประมูลในรูปแบบไหน เพื่อให้ได้คนที่พร้อมจะทำธุรกิจนี้จริง ๆ หากพบว่ามีมากกว่า 1 ราย ค่อยมาดีไซน์รูปแบบประมูลก็ได้ เพราะเป็นตลาดที่แข่งขันสูง มีคู่แข่งเป็นต่างชาติมากมาย และส่วนใหญ่ทำธุรกิจกันมามากกว่า 20 ปี มีประสบการณ์สูง ทั้งยังแทบจะไม่มีภาระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เลย”

นอกจากนี้ควรมีการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมโดยแยกระหว่างค่าวงโคจรหรือไฟลิ่งในระดับ 0.25% กับค่าดำเนินการของ กสทช. ที่อาจจะเป็นจำนวนคงที่เพื่อให้สะดวกในการประเมินมูลค่า หรือคิดราว 0.1% เหมือนที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศส่วนใหญ่จ่ายอยู่

ขณะที่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการนั้น ควรจะมีการระบุแยกให้เก็บจากรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น และควรคำนึงถึงการจัดเก็บซ้ำซ้อนเพราะลูกค้าดาวเทียมส่วนใหญ่ก็จะต้องจ่ายค่าไลเซนส์ให้ กสทช.ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดภาระมากจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้

ขอทบทวนเกณฑ์หลักประกัน

นายธานินท์ หยวกขาว ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารดาวเทียม บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยว่า ประเด็นที่เอกชนกังวลส่วนใหญ่จะคล้ายกับที่ไทยคมตั้งข้อสังเกต ในส่วนของแคทเองต้องการความชัดเจนเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการในกรณีที่เป็น “กิจการร่วมค้า” หรือการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์หลาย ๆ รายเข้าร่วมการคัดเลือก จะยึดเกณฑ์คุณสมบัติอย่างไรบ้าง อาทิ กรณีที่พาร์ตเนอร์เป็นต่างชาติ เพราะบริษัทในไทยที่มีประสบการณ์ในธุรกิจดาวเทียมมีแต่ไทยคมเท่านั้น

ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเกณฑ์การวางหลักประกันโครงการของ กสทช.ที่จะไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา เพราะเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงและในช่วง 3-4 ปีแรกยังไม่มีรายได้เข้ามา แต่ กสทช.มีแนวคิดอาจจะให้วางเงินประกันในระดับ 50% ของมูลค่า ทั้งยังไม่ชัดเจนว่า จะได้รับเงินประกันคืนเมื่อใด

ตลาดดาวเทียมไทย ความต้องการ-ต้นทุน

ก่อนที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฉบับล่าสุดจะประกาศใช้เมื่อ เม.ย. 2562 และมอบอำนาจให้ “กสทช.” เป็นผู้กำกับดูแลกิจการดาวเทียมแบบเบ็ดเสร็จ กสทช.ได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ ด้วยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง บริษัท เดเทคอน (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ศึกษาความต้องการใช้งานดาวเทียมในประเทศไทย

โดยผลการศึกษาที่สำคัญระบุว่า อุปสงค์ดาวเทียมในประเทศไทยในปัจจุบัน และประมาณการความต้องการในอนาคต พิจารณาจากแนวโน้มโลก การใช้ประโยชน์และแนวโน้มการเติบโตเทียบกับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสภาพการใช้งานดาวเทียมของตลาดในปัจจุบัน และความต้องการใช้งานของภาครัฐและภาคทหารในอนาคต พบว่าความต้องการใช้งานดาวเทียมของประเทศไทยมีแนวโน้มไปสู่ความต้องการแบบความจุสูง ในอัตราเติบโตสะสมเฉลี่ย 26.6% มากกว่าความต้องการดาวเทียมแบบทั่วไป อัตราเติบโตสะสมเฉลี่ย -4.2%

เช่นเดียวกับแนวโน้มของรายได้การให้บริการในช่วงเวลาที่ศึกษาคือ ปี 2559-2569 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเติบโตสะสมเฉลี่ย 14.9% จากการเติบโตของความต้องการดาวเทียมแบบความจุสูง ขณะที่รายได้ของการให้บริการดาวเทียมแบบทั่วไปมีแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ไม่จูงใจต่อความต้องการใช้งาน แตกต่างจากดาวเทียมสื่อสารแบบความจุสูงที่มีประสิทธิภาพการใช้งานและประสิทธิภาพเชิงต้นทุน ทั้งยังมีอุปสงค์ดาวเทียมในการสื่อสารข้อมูล ดาวเทียมในการเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดาวเทียมในการขนส่งเชิงพาณิชย์ (commercial mobility service/ESIM)

และเนื่องจากเทคโนโลยี 5G กำลังจะเปิดให้บริการเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ความเร็วสูง และรองรับความต้องการใช้งาน IOT ซึ่งอาจทำให้เกิดความต้องการในการเข้าถึงพื้นที่เครือข่ายบรอดแบนด์ภาคพื้นดินไม่ครอบคลุม หรือรองรับแอปพลิเคชั่นที่ต้องการค่าความหน่วงต่ำ (latency) ซึ่งอาจจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารความจุสูงแบบไม่ประจำที่ (NEGO-HTS) อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงทางเลือก หากผู้ให้บริการเครือข่ายบรอดแบนด์เคลื่อนที่ภาคพื้นดินในไทย ต้องการใช้งานดาวเทียมร่วมกับเครือข่าย 5G เพื่อเพื่อประสิทธิภาพในด้านการขยายพื้นที่ครอบคลุม

ขณะที่ดาวเทียมสื่อสารความจุสูง ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไทยคม 4 เพียงดวงเดียว ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในอนาคต ส่วนอุปสงค์ดาวเทียมในด้านความมั่นคงทางการทหารนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานจริง อาทิ หากต้องการใช้ในการติดตาม tracking การถ่ายภาพด้วยความละเอียดสูง อาจจำเป็นต้องใช้ดาวเทียมวงโคจรระยะต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก็มีโครงการ THEOS-2 เพื่อจัดหาดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่วงโคจร ขณะที่ผลการตั้งสมมติฐานต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนหลักในกิจการดาวเทียม (CAPEX) กรณีจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจร โดยรวมค่าเครื่องดาวเทียมค่าใช้จ่ายในการส่งดาวเทียมสู่วงโคจร คำนวณค่าใช้จ่ายต่อหน่วยความจุดาวเทียมแต่ละประเภทพบว่า กรณีดาวเทียมแบบความจุสูงจะมีค่าใช้จ่าย 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อจิกะบิตต่อวินาที

กรณีดาวเทียมแบบทั่วไปจะมีค่าใช้จ่าย 4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อทรานสปอนเดอร์ และอีก 0.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อ 1 สถานีภาคพื้นดิน ซึ่งในแบบจำลองกำหนดให้ต้องมีอย่างน้อย 4 สถานี

นอกจากนี้ ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมข่ายงานดาวเทียม (network filing) ที่ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอจาก ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) อีก 165,984 ฟรังก์สวิส หรือราว 0.17 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ (ปัจจุบันอยู่ที่ 5,000 บาทต่อคำขอ/ยื่นต่อทุก 5 ปี) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตวิทยุคมนาคม (อัตราขึ้นอยู่กับประเภทคำขอใช้งาน) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม (อัตราขึ้นกับกำลังส่งตั้งแต่ 125-10,000 บาท) และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ (คิดตามขั้นบันไดของรายได้ตั้งแต่ 0.125-1.5%)