เปิดมุมมอง “เอไอเอส-เทเลนอร์” ส่องเมกะเทรนด์-นวัตกรรม ปี’64

AIS

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกสิ่ง ผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ท่ามกลางดิจิทัลดิสรัปชั่นที่เร็ว และรุนแรงขึ้นมากในฐานะบริษัทเทคโนโลยี ทั้งเอไอเอส และเทเลนอร์ (บริษัทแม่ดีแทค) ได้ออกมาพูดถึงแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะได้เห็นกันในปี 2564 ดังนี้

รู้เท่าทันโลกเปลี่ยน

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส เน็กซ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เริ่มคุ้นกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เช่น ประชุม/เรียนออนไลน์

ปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชั่น ทั้งกระตุ้นให้ทั่วโลกเจอดิจิทัลดิสรัปชั่น มีปัญหามากมาย ซึ่งต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัย, ภาวะโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5 จึงต้องฉายภาพผลกระทบให้คนในสังคมตระหนัก และช่วยกันสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหา เช่นกันกับกรณีที่พ่อค้าแม่ค้าต่างชาติเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

นอกจากนี้ เอไอเอส เน็กซ์ ได้วิเคราะห์เทรนด์เทคโนโลยี และนวัตกรรมในปี 2564 เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือ มี 5 เรื่อง 1.digital identity foundation initiative ทำให้การยืนยันตัวตนในทุกแพลตฟอร์มเป็นเรื่องง่าย องค์กรตรวจสอบตัวตนลูกค้าได้ รัฐบาลใช้บิ๊กดาต้าตามจับคนร้ายลดต้นทุนภาครัฐมหาศาล

2. digital archive & intelligence initiative สิ่งของทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็น IOT เก็บข้อมูลผู้ใช้โดยระบบเซ็นเซอร์ ทำให้ธุรกิจรู้พฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภคและพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการได้ คาดว่าในอนาคตจะนำ IOT มาเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เทรนด์ที่ 3.phygital exchange market initiative คนสั่งซื้อสินค้าจากออนไลน์แล้วโดนหลอกหรือฟู้ดดีลิเวอรี่ที่มีการหักค่าธรรมเนียม (GP) สูง ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ราคาสินค้าที่แท้จริงจึงต้องมีการควบคุมการซื้อขายและเก็บข้อมูลในแพลตฟอร์มดิจิทัล

4. future workforce platform initiative ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การสร้างคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลในทุกวัยจะช่วยใหขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

สุดท้าย 5.digital police initiative การบังคับใช้กฎหมายในโลกดิจิทัล

หนุนปั้นสตาร์ตอัพไทย

“การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในไทยอยู่ในจุดชนกำแพงไปต่อไม่ได้ เพราะตลาดไทยเล็กมาก จึงไม่มีนักลงทุนกล้าลงทุนจริงจัง แต่เอไอเอส เน็กซ์ ได้เงินสนับสนุนกว่า 100 ล้านบาทต่อปีให้สร้างสรรค์นวัตกรรมช่วยสังคม ผ่านโครงการ JUMP THAILAND 2021 เพื่อสร้างสตาร์ตอัพในรูปแบบการแข่งขัน แฮคกาธอน”

โดยเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมสร้างโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศ ทีมที่ชนะจะได้ร่วมงานกับเอไอเอส เน็กซ์ และใช้ทรัพยากรของเอไอเอสได้ อาทิ 5G, IOT, big data, cloud และ AI ทั้งต่อยอดเป็นสตาร์ตอัพ และเปิดระดมทุนโดยมีเอไอเอสเป็นผู้สนับสนุนหลัก

“ปีที่แล้วมีนวัตกรรมออกสู่ตลาดกว่า 20 โครงการ อาทิ School Van Clever แก้ปัญหาเด็กถูกลืมไว้ในรถ โดยใช้ AI จับความเคลื่อนไหวคนที่ติดอยู่ในรถแล้วส่งสัญญาณไปยังคนขับ และครู, AI Monitor Jaundice แอปวัดค่าดีซ่านด้วยตนเอง และ Thailand Forrest Fire Serverity ป้องกันไฟป่าด้วยดาวเทียม และ IOT”

ส่องเทรนด์เทคโนโลยีโลก

ด้าน นายบียอน ทาล แซนเบิร์ก หัวหน้าศูนย์วิจัยเทเลเนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า เทรนด์เทคโนโลยีปี 2564 จะมี 5G เป็นพื้นฐาน เทรนด์แรกคือ หุ่นยนต์ และแชตบอต เช่น หุ่นยนต์แมวน้ำ “พาโร”, หุ่นยนต์ AI เสมือนมนุษย์ “โซเฟีย” ที่โต้ตอบ อ่านสีหน้า

และลักษณะท่าทางของมนุษย์ได้ หรือเทคโนโลยี AR (augmented reality) และ VR (virtual reality) กับเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยให้แชตบอตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทรนด์ที่ 2 กรีนเทคโนโลยีจะได้เห็นมากในโลกหลังโควิด-19 นำมาใช้ควบคุมการผลิตพลังงานทดแทน ใช้ในวงการเกษตร เช่น หุ่นยนต์พ่นยาฆ่าเชื้อราเฉพาะจุด ช่วยให้การใช้น้ำลดลง กำจัดวัชพืช และเก็บผลผลิตได้ ลดการใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ลดปัญหาการบีบอัดหน้าดิน ที่ก่อให้เกิดโลกร้อน

เทรนด์ที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล (digital dementia) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอัตราเร่ง ทำให้มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้นกับอุปกรณ์ที่หลากหลายจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น ไฟล์ที่มากขึ้น นำมาสู่มาตรการความปลอดภัยที่มากขึ้นทำให้คนเผชิญภาวะสมองเสื่อมจากการใช้บริการดิจิทัลที่มากขึ้น

โดยเฉพาะ “พาสเวิร์ด” ที่ผู้ให้บริการต่างกำหนดให้พาสเวิร์ดต้องผสมตัวเลข เครื่องหมายและตัวอักษรที่ซับซ้อนขึ้น ต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 3 เดือน นำมาซึ่งความปวดหัวทั้งในระดับบุคคลและองค์กร

ย้ำ “ทำงาน-เรียน” ออนไลน์

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์จึงคาดการณ์ว่า บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ จะนำโซลูชั่นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เอื้อให้ผู้ใช้สะดวกขึ้น แต่ยังคงระดับความปลอดภัยเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นที่ใช้สำหรับการจัดการพาสเวิร์ด หรือการใช้อัตลักษณ์บุคคลยืนยันตัวตน เช่น ลายนิ้วมือหรือสแกนม่านตา เป็นต้น

เทรนด์ถัดมาคือ การทำงานระยะไกลแม้โควิด-19 จะสิ้นสุดแต่พนักงานยังต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน องค์กรจึงต้องเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แน่นหนาขึ้น

เช่น ประเทศกรีซ สนับสนุนพนักงานให้ทำงานจากระยะไกล ลดภาษีรายได้สำหรับชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศ 50% เพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานจากระยะไกลมากขึ้น

และสุดท้ายเทรนด์ที่ 5 เทคโนโลยีด้านการศึกษา ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาพบว่าเด็กมากกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้รับการศึกษา แม้ในประเทศที่มีรายได้สูง มีเด็กเพียง 87% เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีเพียง 6% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่เหลือโดนตัดขาดจากการศึกษาไปโดยปริยาย ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มส่งเสริมให้เด็กทุกคนในประเทศเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้