ดีลอยท์ เผยจะทรานส์ฟอร์มสำเร็จ ต้องพัฒนาคน

ดีลอยท์ เผยรายงานประจำปี พบ 93% องค์กรไทยตื่นตัวทำทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าเทคโนโลยีแอดวานซ์ เหตุเพราะใช้เงินมาก ผลตอบแทนน้อย พนักงานขาดทักษะดิจิทัลเป็นอุปสรรคใหญ่ แนะรัฐออกมาตรการภาษี ดึงต่างชาติลงทุนในไทย

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษา Thailand Digital Tranformation Survey Report 2021 ได้สำรวจความเห็นผู้บริหารในไทย ซึ่ง 88% เป็นกรรมการบริษัทและ 12% เป็นฝ่ายบริหารด้านไอที พบว่าองค์กรไทย 48% เริ่มตื่นตัวกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น โดยกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์และสถาบันการเงินเป็นกลุ่มที่พร้อมทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลมากสุด ทั้งนี้องค์กรกว่า 93% มีแผนที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจ 52% เริ่มทรานส์ฟอร์มแล้ว 14% จะเริ่มทำในอีก 1 ปีข้างหน้า และ 24% จะเริ่มในอีก 3 ปี

สำหรับเทคโนโลยีที่องค์กรเลือกลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก จะเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เทคโนโลยีสำหรับพัฒนาเว็บไซต์ 87% โมบายแอปพลิเคชั่น 75% และคลาวด์ 78% รองมาจะเป็นเทคโนโลยีระดับแอดวานซ์ ได้แก่ Data analytics 44% IoT 36% โรบอติกและ AI 24% เทคโนโลยี AR,VR 18% และบล็อกเชน 15%

ส่วนองค์กรที่ไม่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 จะลงทุนทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทลโก้ที่ลงทุนทรานส์ฟอร์มธุรกิจมากกว่า 22% ของรายได้ และสถาบันการเงินที่ลงทุนประมาณ 16% ของรายได้

นอกจากธุรกิจเทลโก้จะลงทุนทรานส์ฟอร์มตนเองแล้ว ยังเข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐานทางเครือข่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น เพื่อผลักดันให้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นเกิดขึ้นในระดับประเทศ นอกจากนี้ธุรกิจด้านพลังงานยังมีแนวโน้มลงทุนดิจิทัลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการออกนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น รถไฟฟ้า EV ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล

ทั้งนี้ผลการศึกษายังระบุอีกว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 59% ช่วยสร้างโปรดักทิวิตี้เพิ่ม 43% ช่วยลดต้นทุน 38% และทำให้องค์กรสามารถสร้างบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ ได้เพิ่มขึ้น 32% แต่ในแง่ของรายได้เติบโตต่ำสุดที่ 25% และมีเพียง 13% เท่านั้นที่ทรานส์ฟอร์มองค์กรสำเร็จและโตอย่างยั่งยืน 59% สำเร็จบางส่วน 21% ทำสำเร็จแต่ไม่ยั่งยืน และอีก 7% ล้มเหลว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายองค์กรชะลอการลงทุนด้านดิจิทัล

ความท้าทายในการทรานส์ฟอร์มมีมากโดยเฉพาะเรื่องบุคลากร โดยบุคลากรในองค์กรมีเพียง 6% เท่านั้นที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัล 56% เป็นหัวก้าวหน้าที่พยายามปรับใช้ดิจิทัล 59% เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะปรับใช้ 21% เป็นผู้ตาม และ 5% เป็นกลุ่มล้าหลัง

“อุปสรรคสำคัญอีกอย่างคือ วัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กรและโครงสร้างการบริหารแบบบนลงล่าง องค์กรจึงเริ่มคัดเลือกพนักงานที่มีทักษะเหมาะสมสำหรับการทรานส์ฟอร์ม โดยกลุ่มอาชีพที่ต้องการจะเป็นกลุ่มกลุ่มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น”

ดร.นเรนทร์ทิ้งทายว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐเริ่มขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และพยายามวางโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตอย่าง 5G ให้ทั่วถึง นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องการมาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่น Tax Incentive หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดเทกคอมปะนีจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย