บลูบิคปักธง 3 ปีเทียบ บ.รีจินอล อัพสปีดธุรกิจที่ปรึกษาดิจิทัล

โลกดิจิทัล

บลูบิคเผยองค์กรใหญ่มองข้ามชอต เฟ้นโซลูชั่น เทคโนโลยี เร่งสร้างการเติบโตหลังโควิด เดินหน้าระดมทุน เติมแม็กเนต ต่อยอดปั้นบริการใหม่เสริมทัพธุรกิจ ตั้งเป้า 3 ปีปักหมุดสู่บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับรีจินอล มัดใจลูกค้าทั่วเอเชีย

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีอย่างครบวงจร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เพราะทุกบริษัทตระหนักดีว่า

ถ้าไม่เปลี่ยน ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ ๆ ปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทเริ่มตั้งแต่วางกลยุทธ์ การหาบุคลากร เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่องค์กร

ข้ามชอตมองโอกาสหลังโควิด

ขณะเดียวกันเพื่อให้การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทใหญ่ ๆ ใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กรมากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจธนาคารถือเป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ดีและชัดเจน

ด้วยการทรานส์ฟอร์มบริการทั้งหมดเป็นดิจิทัล 80-90% แล้ว ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี ก็อาจจะต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจมาใช้ เช่น คลาวด์ เครื่องมือดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

“ช่วงโควิดโจทย์หลักของการทรานส์ฟอร์มองค์กร คือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินต่อโดยไม่สะดุด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การประชุมออนไลน์ เป็นต้น แต่ปัจจุบันโจทย์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ๆ มองหาโซลูชั่น เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจมากขึ้น และหลังจากโควิดคลี่คลายก็พร้อมสร้างการเติบโตต่อได้ทันที”

ระดมทุนสปีดธุรกิจ

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา บริษัทมีลูกค้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้บริษัทเองต้องมีเพิ่มทีมขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมีพนักงานอยู่ 140 คน และมีแผนจะขยายทีมเพิ่มอีก เพื่อรองรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

ขณะที่การแข่งขันธุรกิจที่ปรึกษาด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กรในไทยก็แข่งขันกันค่อนข้างสูง เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ คือ บริษัทข้ามชาติที่มีประสบการณ์และความน่าเชื่อถือที่ดี

ขณะที่บลูบิค ถือเป็นบริษัทที่ปรึกษาไทย ซึ่งมีการทำงานที่เป็นมาตรฐานระดับโลก และมีทีมบุคลากรที่มีประสบการณ์ ชูจุดแข็งด้านการทำงานที่เข้าใจธุรกิจของลูกค้าในไทย ทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นองค์กรใหญ่ ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET50 และ SET100

นายพชรกล่าวว่า เมื่อความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจึงได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากต้องการนำเงินมาลงทุนในหลาย ๆ ส่วน เช่น การเพิ่มบุคลากร พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี การพัฒนาศูนย์การพัฒนาทักษะ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ตั้งเป้าขึ้นที่ปรึกษาระดับรีจินอล

นอกจากนี้เตรียมจะขยายบริการใหม่ด้วยการต่อยอดจากบริการเดิม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ธุรกิจหลักด้วย ด้วยการแตกสู่บริการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น บริการ marketing transformation ซึ่งจะช่วยลูกค้าตั้งแต่การวางแผน วิเคราะห์ และยกระดับกระบวนการบริหารงานด้านการตลาด ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้เชื่อมโยงกันโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นต้น จากปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ 5 บริการหลัก


นายพชรกล่าวว่า ปัจจุบันฐานลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นองค์กรใหญ่ ๆ แต่หลังจากนี้เตรียมจะพัฒนาบริการซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมากขึ้น ในราคาค่าบริการที่ไม่สูง เพื่อขยายฐานลูกค้าองค์กรระดับกลางและเล็กมากขึ้น อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายว่า อีก 3 ปีจากนี้ บริษัทจะขยับขึ้นเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กรในระดับรีจินอล โดยคาดว่าจะมีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทต่างชาติสัดส่วน 20-30% และบริษัทไทย 70-80% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนของฐานลูกค้าไทย 90% ของรายได้รวม