ชัยวุฒิหนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เล็งใช้แก้ปัญหารายได้โรงงานยาสูบ

ชัยวุฒิดันบุหรี่ไฟฟ้า

รมว.ดีอีเอสขอศึกษา ดันบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เผยไทยต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี​ ชี้หากสามารถนำยาสูบมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ จะแก้ปัญหาเรื่องรายได้ให้โรงงานยาสูบ-เกษตรกร 

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ข่าวสด รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นายชัยวุฒิ​ ธนาคมานุสรณ์​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (ดีอีเอส)​ ให้สัมภาษณ์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่า เครื่องยาสูบที่เป็นไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่ง 67 ประเทศทั่วโลกให้การยอมรับ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน หรือแม้แต่มาเลเซีย เนื่องจากเป็นยาสูบที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ มีสารพิษน้อยกว่า เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ

นายชัยวุฒิเผยว่า เรื่องนี้ตนกำลังศึกษาข้อกฎหมายอยู่ว่าติดขัดเรื่องอะไร เพราะหากทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้จะสามารถลดอันตรายให้กับผู้สูบ เพราะบางคนไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แม้จะมีการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ก็ตาม โดยปัจจุบันเหลือคนสูบบุหรี่อีกเกือบ 10 ล้านคน

ดังนั้น​ หลายประเทศจึงยอมรับว่าหากเรามีบุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถลดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้มากกว่า เรื่องนี้ตนขอศึกษาข้อกฎหมายก่อน

นอกจากนี้​ ปัจจุบันทราบว่าโรงงานยาสูบและผู้ปลูกยาสูบเองก็มีรายได้ลดลง เนื่องจากคนนิยมไปสูบบุหรี่นำเข้า หรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามา

ดังนั้น​ หากเราสามารถนำยาสูบที่ปลูกในประเทศมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ จะสามารถแก้ปัญหาให้กับโรงงานยาสูบและเกษตรกรได้ รวมทั้งส่งออกได้ด้วย อยู่ที่ว่าเราจะสามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายถ้าเราไม่ปรับตัวตามเทคโนโลยีก็จะเกิดปัญหาภายในประเทศและเสียหายในอนาคตได้

บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยมีกฎหมายควบคุมเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามขายหรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ