ไขข้อสงสัย ทำไมช่อง 5 เปลี่ยนหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลได้

ททบ.5 เตรียมเปลี่ยนหมายเลขช่อง จากหมายเลข 1 เป็น 5 ตอกย้ำการจดจำของช่อง 5 มีผล 25 พ.ย.นี้ ขณะที่ กสทช.แจง กลุ่มช่องสาธารณะสามารถยื่นของเปลี่ยนช่องได้ หากหมายเลขนั้นไม่ได้มีการใช้งาน

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 หลังจาก ททบ.5 เตรียมเปลี่ยนหมายเลข 1 มาเป็นหมาย 5 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 และจะมีผลวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้

เงื่อนไขการเปลี่ยนช่องนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแบ่งประเภทใบอนุญาตประกอบการ 3 ประเภท ประกอบด้วย

• ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 1 มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ สุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

• ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ

• ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 3 มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน กระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

สำหรับ ททบ.5 จัดอยู่ในกลุ่มใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข การกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการบริการสาธารณะโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ที่มี 12 ช่อง ได้แก่

ช่องที่ 1-3 กลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม จำนวน 3 ช่อง ได้สิทธิออกอากาศคู่ขนาน จนสิ้นสุดส่งสัญญาณแอนะล็อกเดิม คือ ททบ.5 ช่องเอ็นบีที (ช่อง 11) และไทยพีบีเอส

ส่วนช่องที่ 4 ความคมชัดสูง (HD) ให้กับไทยพีบีเอส ทำรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว เนื่องจากมีข้อตกลงในการคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช.

ช่องที่ 5 เพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ช่องที่ 6 เพื่อส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ

ช่องที่ 7 เพื่อส่งเสริมสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

ช่องที่ 8 วัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐ

ช่องที่ 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ

ช่องที่ 10 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน

ช่องที่ 11 เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ช่องที่ 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ แก่คนพิการ คนด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ช่องบริการสาธารณะมีด้วยกัน 12 หมายเลข ซึ่งหากยังไม่มีผู้เข้าใช้หมายเลขช่องนั้น ๆ ผู้ให้บริการบริการสาธารณะที่ออกอากาศอยู่ก็สามารถขอยื่นเรื่องต่อ บอร์ด กสทช. เพื่อขอเปลี่ยนหมายเลขช่องได้ ซึ่งหมายเลข 5 ก็ยังไม่มีผู้ใช้งาน ทำให้บอร์ด กสทช.อนุมัติให้ ททบ.5 สามารถเปลี่ยนเลขช่องเป็นเลข 5 ได้ ส่วนช่องทีวีดิจิทัลหมาย 16-36 นั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนหมายเลขได้ เนื่องจากเป็นหมายเลขช่องที่เกิดจากการประมูลของผู้ประกอบการไปแล้ว

อย่างไรก็ตามพลเอกรังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.5 ได้ให้เหตุผลการเปลี่ยนหมายเลขช่องจากเลข 1 มาเป็นเลข 5 ว่า ททบ.5 เป็นทีวีดิจิทัลประเภททีวีบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงและได้ใช้หมายเลข 1 ในกลุ่มของทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

โดยการออกอากาศที่ผ่านมาพบว่าผู้ชมยังเกิดความคลาดเคลื่อนในการเข้าถึง โดยยังจำช่องหมายเลขเดิม คือ ดู ททบ. ต้องกดหมายเลข 5 ส่งผลให้ฐานคนดูลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้ผู้ชมสามารถจดจำเลขหมายของช่องได้ จึงได้ขอเปลี่ยนหมายเลขช่อง จากหมายเลข 1 เป็นหมายเลข 5 ต่อบอร์ด กสทช. ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย ละจะเริ่มการเปลี่ยนหมายเลขช่อง เป็นหมายเลข 5 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ทั้งระบบดาวเทียม เคเบิลทีวี และเครื่องรับสัญญาณ