Amazon กับการลงทุน ใน Climate Tech

aMAZON
FILE PHOTO : Angela Weiss / AFP
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ถ้า Amazon อยากบรรลุเป้าหมาย net zero carbon emissions ให้ได้ภายในปี 2040 บริษัทต้องการเทคโนโลยีใหม่มาช่วย และคงไม่มีทางลัดใดทันใจเท่ากับการเข้าไปลงทุนในบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี

กลางปีที่แล้ว Amazon ประกาศตั้งกองทุน Climate Pledge Fund โดยสำรองเงินไว้ 2 พันล้านเหรียญเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก

เวลาพูดถึงการมีส่วนร่วมของบริษัทชั้นนำในการรับมือกับปัญหาโลกร้อน หลายคนอาจคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ความจริงแล้วไม่มีใครทำอะไรให้ใครฟรี ๆ

แน่นอนว่าการลดการปล่อย CO2 ให้ได้ตามเป้าย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาโลกร้อนทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา เปิดช่องให้เอกชนเห็นโอกาสทางธุรกิจในการลดต้นทุนเช่นกัน

และทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำและอาหารกระตุ้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ผลิตอาหารจากพืชจนทำให้มีบริษัทร่ำรวยจากการผลิต plant based food จำนวนมาก

ดังนั้น การดูโปรไฟล์ของสตาร์ตอัพที่ Amazon เข้าไปลงทุนน่าจะพอฉายภาพให้เห็นถึงอนาคตว่าบิ๊กเทครายนี้ปัจจุบันบริษัทลงทุนใน climate techสตาร์ตอัพผ่านกองทุน Climate Pledge Fund ไปแล้ว 11 แห่ง

ซึ่ง “แมต ปีเตอร์สัน” ผู้รับผิดชอบกองทุน บอกว่าเทคโนโลยีที่ Amazon สนใจเป็นพิเศษมีด้วยกัน 5 หมวดได้แก่ อาหารเกษตร การเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันมาเป็นพลังงานไฟฟ้า การใช้กรีนไฮโดรเจน การผลิตพื้นที่เก็บกักพลังงานขนาดใหญ่และการลดการใช้พลาสติก

หลายคนอาจลืมว่า Amazon เป็นเจ้าของ Whole Foods ซึ่งบริษัทมีแผนรุกธุรกิจอาหารด้วยการใช้ร้าน Amazon Fresh เป็นช่องทางการขาย และเป็นศูนย์กลางการให้บริการ food delivery

ดังนั้นการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตอาหารและลดปริมาณอาหารเหลือย่อมอยู่ในความสนใจ

สำหรับการผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้า Amazon สั่งผลิตรถไฟฟ้า 1 แสนคันจาก Rivian Automotive เมื่อ 2 ปีก่อน และคาดว่าจะพร้อมใช้ในปี 2024 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100% ภายในปี 2030

ล่าสุด บริษัทยังลงทุนใน Resilient Power สตาร์ตอัพเจ้าของนวัตกรรมเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ชาร์จเร็วกว่าเครื่องที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 10 เท่า

แม้ปีเตอร์สันจะยอมรับว่าเทคโนโลยีนี้อาจไม่ “เซ็กซี่” เท่าไหร่ แต่ช่วยเติมเต็มแผนการใช้รถไฟฟ้าในการขนส่งทั้งหมดของบริษัทในอนาคต

และแน่นอนว่าอะไรที่จะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนส่งลงได้ ย่อมเป็นที่ถูกใจของเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซรายนี้ที่ชู fast delivery เป็นหนึ่งในจุดขาย

ส่วนการใช้กรีนไฮโดรเจน ลงทุนใน ZeroAvia ซึ่งสร้างเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ไม่มีการปล่อยสารพิษใด ๆ และลงทุนใน Infinium ที่ผลิตเชื้อเพลิง electrol-fuel ที่เป็นพลังงานสะอาด

ในแง่การใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมAmazon โฟกัสไปที่การพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม และสามารถกักเก็บพลังงานได้นานขึ้น

ส่วนการลดการใช้พลาสติก บริษัทเพิ่งลงทุนใน CMC Matchinery เจ้าของเทคโนโลยีการบรรจุหีบห่อแบบใหม่ที่สามารถ tailor-made ขนาดของกล่องให้พอดีกับขนาดของสินค้าแต่ละชิ้นโดย Amazon

คาดว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการใช้พลาสติกกันกระแทก (plastic pillow) ของบริษัทได้ถึง 1 พันล้านชิ้นภายในสิ้นปี 2022

แม้เงินลงทุน 2 พันล้านเหรียญจะไม่ได้มากมายอะไรแต่จะเห็นได้ว่าการลงทุนผ่านกองทุน Climate Pledge Fund ไม่ได้ทำแบบเหวี่ยงแหแต่เป็นการลงทุนแบบมีกลยุทธ์ที่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจทั้งสิ้น

ที่สำคัญคือ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเหล่านี้ หมายความว่ามันคงเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตาเพราะมีแนวโน้มจะเติบโต และมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต