ทิศทางอีคอมเมิร์ซปี’65 ทะลุ 9 แสนล้าน โซเชียล-ไลฟ์สด แรง

โควิด-19 ผลักดันให้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โตก้าวกระโดด โดยเฉพาะตลาด B2C (business-to-consumer) จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ซึ่งถ้าดูภาพรวมตลาดทั้ง B2C, B2B และ B2G (business-to-government) จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) ก็ชัดเจนว่าเป็นขาขึ้น แม้ในปี 2564 จะสะดุดไปบ้าง

เพราะบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ เช่น การให้บริการที่พัก, การขนส่ง และการผลิต จากมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ แต่ในปี 2564 มูลค่าตลาดเริ่มกลับมาอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท (ตารางประกอบ)

อีคอมเมิร์ซไทยทะลุ 9 แสนล้าน

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 ตลาดอีคอมเมิร์ซ B2C จะยังโตต่อ เพราะผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว

ขณะที่แบรนด์สินค้าต่าง ๆ หันเข้ามาขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งเปิดร้านบนอีมาร์เก็ตเพลซ หรือมีช่องทางของตนเอง คาดว่าตลาดรวมจะโตไม่ต่ำกว่า 30% มีมูลค่าประมาณ 900,000 ล้านบาท จากปี 2564 ที่ 693,000 ล้านบาท โต 75% จากปี 2563 ที่มีมูลค่า 396,000 ล้านบาท

“ปี 2563 เกิดโควิด ผลักดันให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น เพราะมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ปี 2564 มีการเติบโตกระโดดขึ้นมาถึง 140% จากปี 2563 จากจำนวนนักช็อปหน้าใหม่ และความถี่ในการซื้อที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะยังเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเนื่องมาในปี 2565”

จับตา TikTok ลุยโซเชียลคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล กินส่วนแบ่งตลาด 40% ทั้งมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแคมเปญดับเบิลเดย์ที่จัดต่อเนื่อง คาดว่าปี 2565 ก็ยังคงอยู่ เพราะจุดกระแสติดแล้ว

แต่ที่จะเพิ่มขึ้นคือ การแข่งขันด้านบริการ เช่น ส่งเร็ว และซื้อก่อนผ่อนทีหลัง โดยมีทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงการพัฒนาช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวกมากขึ้น

อีกคู่แข่งน่าจับตาคือ การขายผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น TikTok ด้วยการทดลองเปิด “TikTok Shop” แล้วที่อินโดนีเซีย โดยผู้ขายสามารถเปิดร้านและจัดการทุกอย่างได้บนแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ขายของไปจนถึงการจ่ายเงิน

อีกเทรนด์คือโซเชียลคอมเมิร์ซ จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 30% จะเป็นอีกตลาดที่มาแรงต่อเนื่อง โดยปลายปี 2564 กระแสการไลฟ์ขายสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากเคส “พิมรี่พาย” สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับช่องทางดังกล่าวมากขึ้น ทั้งสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้โดยตรง

คาดว่าปี 2565 หลายแบรนด์จะลงมาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น จะมีดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ ๆ แจ้งเกิดในโซเชียลคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น แต่แบรนด์สินค้าต้องระมัดระวังเรื่องการสื่อสารมากขึ้นด้วย เพราะเป็น “ไลฟ์สด”

ออนไลน์เชื่อมออฟไลน์

นายธนาวัฒน์กล่าวถึงบริการบน “ซูเปอร์แอปพลิเคชั่น” ที่กินส่วนแบ่ง 10-15% ทั้งกลุ่มฟู้ดดีลิเวอรี่ และบริการออนดีมานด์ด้วยว่า ก็จะยังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แกร็บมาร์ท, แพนด้ามาร์ท เป็นต้น ส่วนกลุ่ม Brand.com คาดว่าในปี 2565 จะกินส่วนแบ่งตลาด 15-20% ของตลาดรวม

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการผสมผสานระหว่างการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ และออฟไลน์ (หน้าร้าน) ชัดเจน คือหาข้อมูลผ่านออนไลน์ และไปซื้อที่หน้าร้าน หรืออาจดูสินค้าหน้าร้านและมาซื้อออนไลน์ ซึ่งราคายังมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะเทียบราคาได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หน้าร้านต้องจัดโปรโมชั่นที่ดี เพื่อดึงให้คนตัดสินใจซื้อทันที”

3 ปัจจัยบวกดันตลาดโต

ด้าน นางสาวมัณฑนา หล่อไกรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า โควิดเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2564 เติบโต ส่งผลให้ประเทศไทยมีผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้น 9 ล้านคน (ตั้งแต่การระบาดปี 2563-กลางปี 2564)

จากข้อมูลการสำรวจของ Statista ระบุว่า ผู้ใช้อีคอมเมิร์ซในไทยปี 2564 มี 36.6 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 43.5 ล้านคน หรือกว่า 61.8% ของประชากรไทยในปี 2565

“อีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือก แต่กลายเป็นช่องทางหลักในการต่อยอด และอยู่รอดของธุรกิจ สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้ขาย และแบรนด์บนแพลตฟอร์มลาซาด้าในไทย (ข้อมูล 1 ม.ค.-13 ธ.ค. 2564) พบว่ามีผู้ขายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 300% เทียบช่วงเดียวกันปี 2563 นักช็อปเพิ่มขึ้น 70% ยอดคำสั่งซื้อบน LazMall เพิ่มขึ้น 200% เทียบช่วงเดียวกันปี 2563”

และคาดว่าปี 2565 ตลาดอีคอมเมิร์ซก็ยังโตจาก 3 ปัจจัยบวก ได้แก่ 1.เทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ทั้งการชำระเงินผ่านออนไลน์ที่โตขึ้น 2.แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซพัฒนาบริการใหม่ ๆ

และ 3.โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายโลจิสติกส์มีการลงทุน และพัฒนาต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาจัดส่งพัสดุ ทำให้ประสบการณ์ช็อปผ่านอีคอมเมิร์ซดีขึ้น

“การแข่งขันก็คงเข้มข้นขึ้น ทั้งการมีผู้เล่นต่าง ๆ เข้ามา มีกิจกรรมการตลาด และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ออกมาเพื่อเอาชนะใจผู้บริโภค เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนอีโคซิสเต็มนี้ให้เติบโตต่อไป”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2565 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ มองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ลาซาด้าจึงต้องพัฒนาและมอบประสบการณ์ช็อปให้ได้ทั้งความคุ้มค่า และความน่าเชื่อถือ รวมถึงการช่วยผู้ขายและแบรนด์ให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และเครื่องมือการตลาดสร้างรายได้มากขึ้น

SMEs โกโซเชียลคอมเมิร์ซ

นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซคิดเป็น 64% ของตลาดรวม คาดว่าจะได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

เพราะคนส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร ในส่วนไลน์ช็อปปิ้งมีการเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้น โดยในสิ้นปี 2564 น่าจะเกิน 300,000 ราย กลุ่มที่เติบโต 3 อันดับแรก คือ แฟชั่น, บิวตี้ และธุรกิจท่องเที่ยว ที่เข้ามาขายคูปองที่พักและบริการล่วงหน้า ถือเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

“โควิดหนุนให้เอสเอ็มอี แบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาเปิดร้านบนไลน์ช็อปปิ้งมากขึ้น เพราะสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง โดยความท้าทายสำคัญที่จะเกิดขึ้นปี 2565 และเป็นสิ่งที่เอสเอ็มอี ร้านค้าต้องจับตาคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเชื่อมโยงกลับมาที่กำลังซื้อของผู้บริโภค”

ด้านแบรนด์สินค้า และร้านค้าปลีกก็หันมาขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดย นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ พร้อมมีการทำตลาดออนไลน์ และเปิด “เอเซอร์ สโตร์” ส่งผลให้ยอดขายโตขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วน 12-15% ของยอดขายรวม

สอดคล้องกับ นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของตนเองอยู่แล้ว ในปี 2565 จะเพิ่มน้ำหนักบนโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น

เพราะตอบโจทย์สินค้าไอทีที่ต้องการคำอธิบาย ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มไลฟ์ขายสินค้าบ้าง แต่จะเพิ่มดีกรีมากขึ้นอีก