แม่ทัพ KBTG มองโลกการเงินดิจิทัล เมื่อแบงก์จะเป็น “เทคคัมปะนี”

KBTG บริษัทด้านเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย นับเป็นบริษัทที่มีความเคลื่อนไหวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 มีการขยับขยายการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อรองรับธุรกิจในโลกดิจิทัลในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัทใหม่ KASIKORN X (KX) เพื่อแสวงหาโอกาสจากโลกการเงินยุคใหม่ (decentralized finance : DeFi) ซึ่งเป็นระบบการเงินแบบกระจายอำนาจผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทุกฝ่ายตรวจสอบ และทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคาร หรือสถาบันการเงิน

โดยเปิดตัว 2 ธุรกิจใหม่ทั้งด้านบริการทางการเงิน (financial service) และบริการอื่น ๆ (nonfinancial service) ได้แก่ “Kubix” (ICO Portal) และ “Coral” แพลตฟอร์ม NFT Marketplace เป็นต้น

“กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวะที่บริษัทใช้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรในหลายด้านด้วยกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีโปรเจ็กต์ใหม่เกิดขึ้นกว่า 80 โปรเจ็กต์ และเพิ่มเป็นกว่า 150 โปรเจ็กต์ในปี 2564 รวมไปถึงการเปิดบริษัทใหม่ในเวียดนามและในประเทศจีน เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้การทำงานเร็วขึ้น แต่ยังทำงานจากที่ไหนก็ได้ด้วย

“เราเพิ่มบุคลากรจาก 1,000 คน เป็น 1,800 คน ณ สิ้นปีที่ผ่านมา (ไม่รวมที่จีน) และวางแผนจะเพิ่มเป็น 2,500 คนภายใน 3 ปีข้างหน้า (ในจีน 320 คน และเวียดนามอีก 350 คน) ที่เหลือเป็นในไทย”

พลิกโควิดติดสปีดธุรกิจ

นอกจากนี้ ปี 2565 จะเพิ่มน้ำหนักการบุกตลาดภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนามและจีน โดยมุ่งไปยังการพัฒนาขีดความสามารถด้านไอทีที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ และรุกเข้าสู่โลกการเงินยุคใหม่ หรือ decentralized finance อย่างเต็มตัวอีกด้วย

“ปีนี้จะมัน และดีกว่าปีที่ผ่านมามากขึ้นไปอีก เอาง่าย ๆ ในเวียดนามเป็นตลาดก้าวกระโดดมาก ๆ ล่าสุดสตาร์ตอัพด้านวอลเลต เราทำกันมาสักพักนึงแล้ว ก็เป็นยูนิคอร์นที่เวียดนาม หรือที่จีน มีลูกค้า 1.6 ล้านกว่าคนแล้ว แต่คือ 1.6 ล้านในตลาดที่มีประชากรเป็นพันล้าน ความสามารถด้านไอทีประเมินโดยธนาคารกลางของจีนปีที่แล้ว เราอยู่อันดับ 3 ของธนาคารต่างชาติในจีน แต่เป้าหมายปีนี้ต้องเป็นที่ 1 คือเป็นธนาคารต่างชาติที่ดีที่สุดในหมู่ธนาคารต่างชาติด้วยกันให้ได้”

“เรืองโรจน์” กล่าวว่า “เคบีทีจี” วางตัวเองเป็น tech company อยู่แล้ว และสิ่งที่ทำ ส่งผลให้ธนาคารกสิกรฯ เป็นธนาคารที่มีเสถียรภาพมากที่สุด โดยปีที่ผ่านมาได้ 4 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับโลก IDC Future Enterprise Award 2021 ด้านนวัตกรรมทั้งในไทยและเอเชีย-แปซิฟิก 2 รางวัล อีก 2 รางวัล คือ Best in Future of Digital Infrastructure Thailand และ Best in Future of Industry Ecosystem Thailand

“ความเชื่อของ KBTG คือ ถ้าเรายิ่งทำดีเท่าไร ประเทศไทยก็ยิ่งไปได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นำวงการนี้”

ดัน “เคแบงก์” ขึ้นเทคคอมปะนี

“เรืองโรจน์” กล่าวว่า KBTG ถือเป็น tech company อยู่แล้ว และเปรียบเสมือนลมใต้ปีก และหนึ่งในเครื่องยนต์ (engine) ในการทรานส์ฟอร์ม K แบงก์ไปเป็น tech company แต่สุดท้ายแล้วจะแข่งกันที่ 1.คุณภาพ คือบริษัทไหนจะมีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ดีกว่ากัน เช่น เรื่องโครงสร้างพื้้นฐานมีเสถียรภาพแค่ไหน มีความมั่นคงและปลอดภัยไหม 2.ประหยัดค่าใช้จ่าย (cost efficiency)

“แต่ละบริษัทมีบริษัทลูกเยอะ โครงสร้างพื้นฐานแต่ละบริษัทแยกกันไปเลยก็จะเกิดการลงทุนซ้ำกัน ซึ่ง KBTG เชื่อเรื่อง synergy ดังนั้นเรามอง infrastructure กับ data ร่วมกัน ถัดจาก analytic แล้วก็ software application layer เป็น capability แบบ end to end เรามองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

หมายความว่า บริษัทไหนที่จะเป็น tech company ที่ดีกว่า ขึ้นอยู่กับ 1.มี infrastructure ที่เสถียรภาพ มั่นคง และประหยัดไหม มี economy of scale ไหม

“ผมจะบอกว่าถ้าผมจะขยายไปเวียดนาม ไม่ใช่ว่าต้องลงทุนอีกเท่าตัว แต่มี economy of scale ทำให้ต้นทุนถูกกว่าเยอะ เพราะมี scale และ synergy 3.ข้อมูล (data) และการสร้างรายได้ ใครจะพัฒนา application product ได้เร็วกว่า และถูกใจลูกค้ามากกว่า”

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างแพลตฟอร์ม (platform) โดยทุก tech company จำเป็นต้องเป็น platform ซึ่งเคแบงก์มี K+ เป็น platform ในตัวมันเอง ที่นอกจากมีการทำลอยัลตี้โปรแกรม สะสมแต้มเพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับลูกค้ามากที่สุดในบรรดาธนาคารทั้งหมดแล้ว ยังมี K+ Market ซึ่งเปรียบได้กับการยกห้างทั้งห้างมาอยู่ในแอปพลิเคชั่น เป็นต้น

ถอดรหัสโลกการเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม “เรืองโรจน์” บอกอีกว่า โลกการเงินยุคใหม่ ไม่ได้มีแค่เรื่อง FinTech แต่ยังมีโลกอีกใบคือ โลกการเงินยุคใหม่ หรือ DeFi โดยปีที่แล้วได้เปิดบริษัทใหม่คือ บริษัท กสิกร เอ็กซ์ จำกัด หรือ KX โดยกสิกรไทยเข้าไปถือหุ้น 100% ผ่าน KX ในบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด หรือ Kubix ซึ่งได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจเสนอขายโทเค็นดิจิทัล (ICO Portal) จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว และได้ลอนช์ NFT Coral ซึ่งเป็น NFT Marketplace

โดย NFT เป็นตลาดที่กว้างมาก ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับผลตอบแทนจาก NFT เพียง 1% ดังนั้น สิ่งที่จะทำคือ ทำอย่างไรให้ NFT เข้าถึงได้ในวงกว้างในตลาดที่ยังเหลืออยู่ถึง 99%

“โมเดลคือ คิดไอเดียมา สร้างขึ้น แล้วก็ขยาย จากนั้นก็สปินออฟออกมา ตอนนี้สปินออกมา 2 บริษัทแล้ว ต่อไปก็จะเพิ่มขึ้นอีก และจะมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อีกมาก เช่น MAKE by KBank มีผู้ใช้แล้วกว่า 1 แสนคนแล้ว หรือ LINE BK ที่มีผู้ใช้แล้วกว่า 3 ล้านคน เป็นต้น รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพาร์ตเนอร์ ปีที่ผ่านมามีการทดลองโปรเจ็กต์เล็ก ๆ มีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง และเตรียมจะต่อยอดอีกจำนวนมาก DeFi ในมุมของ KBTG รวมทุกอย่าง รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ปีนี้จะมีออกมาอีกเยอะมาก แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้ แต่ได้เห็นแน่ตั้งแต่ Q1”

ข้ามชอตฟองสบู่ดิจิทัล

“เรืองโรจน์” กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ “ฟองสบู่” แต่คำถามคือ เกิดกับในทุก asset class หรือเปล่า คำตอบคือ ทุก asset class อย่างในตลาดหุ้นก็ขึ้น ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เพราะมีการพิมพ์เงินเข้าไปในระบบจำนวนมาก นั่นคือการทำ QE แต่คาดว่าในปีนี้จะเริ่มลด และมีการขึ้นดอกเบี้ย

“ปีที่ผ่านมา มีการปั๊มเงินใส่ในระบบ เมื่อซัพพลายเงินเยอะ คนก็เลยเอาเงินมาลงทุน ก็มีการปั๊มฟองสบู่ขึ้นไป รวมถึงคริปโทและดิจิทัลแอสเซตต่าง ๆ ก็โดนปั๊มด้วย พอมีเหรียญแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยส่วนตัวคิดว่าเหมือนยุคดอตคอม แต่ในแง่ fundamental technology น่าตื่นเต้นมากกว่ายุคดอตคอม และจะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างแน่นอน เรากำลังเข้าสู่เว็บ 3.0”

แม่ทัพ KBTG ย้ำว่า อย่าไปสนใจว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นฟองสบู่หรือไม่ แต่ให้สนใจว่าใครจะเป็นผู้อยู่รอดในยุค 3.0 เพราะในยุค 1.0 ผู้อยู่รอดคือ ยูทูบ Yahoo ถัดมาคือ Google เป็นยุคที่ 2 คือ ยุคของคลาวด์ ผู้อยู่รอดคือ ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เป็นต้น

“การทำสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีคุณค่าบนโลกจริงคือ การเชื่อมสองโลกเข้าด้วยกัน หากนำเอามาใช้งานในโลกจริงได้ ก็จะมีคุณค่า เพราะไม่ใช่สินทรัพย์ที่เกิดจากการลงทุนของคนอย่างเดียว แต่สามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนได้จริง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล”