“ไปรษณีย์ไทย” ควัก 3 พันล้าน “โกดิจิทัล” พัฒนาแพลตฟอร์มต่อยอดบุรุษไปรษณีย์

ไปรษณีย์ไทย

“ปณท” กดปุ่มทรานส์ฟอร์มองค์กรโกดิจิทัล เตรียมงบฯลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท พัฒนาแพลตฟอร์ม-ต่อยอดศักยภาพบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ ย้ำไม่ใช่เปลี่ยนให้เป็นนักขาย แต่เป็นช่องทางนำส่ง “สินค้า และบริการ” เข้าถึงทุกพื้นทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่าร้านสะดวกซื้อ พร้อมชูแนวคิด “ส่งพลัง-สร้างสัมพันธ์” วาง 5 แนวทางหลัก “F-I-R-M-S” ปรับองค์กรสร้างความแตกต่าง

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล กรรมการ และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด และการสื่อสาร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรง

โดยเน้นเรื่อง “ราคา” เป็นหลัก แต่เริ่มเบาบางลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแต่ละรายเริ่มตระหนักแล้วว่าการเล่นสงครามราคามีแต่จะทำให้ “กำไร” ที่เคยมีหายไปเรื่อย ๆ และสำหรับ ปณท สิ่งที่จะต้องทำ คือ การทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” มากขึ้น โดยปีนี้เตรียมงบฯลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้

“ประเด็นสำคัญในปีนี้ คือ การลงทุนด้านดิจิทัล การนำระบบนำเทคโนโลยีมาใช้ จำนวนบุคลากรที่มีมากถึง 40,000 คน ไม่ได้ทำให้โครงสร้างองค์กรใหญ่เกินไป และเชื่อว่าบุคลากรที่มีอยู่ มีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนและเพิ่มทักษะการทำงานให้สอดรับกับการแข่งขันได้ แต่ในอนาคตก็วางแผนไว้ว่าจะลดจำนวนลงให้เหลือสัก 3 หมื่นคน”

5 แนวทางสร้างความต่าง

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ จะเดินหน้าภายใต้แนวคิด “ส่งพลัง สร้างสัมพันธ์” เพื่อสร้างความแตกต่างให้บริการ ผ่าน 5 แนวทางหลัก หรือ FIRMS ได้แก่ F-first mile management การขยายเครือข่ายจุดให้บริการไปรษณีย์ให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ first mile ถัดมาคือ I-integrated digital data and application การบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ และนำมาสนับสนุนการพัฒนาระบบงานของแต่ละสายงาน และสินค้าบริการใหม่ ๆ ลดความซ้ำซ้อนของแอปพลิเคชั่น

ต่อด้วย R-repowering digital business พัฒนาสินค้า และบริการดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมทดแทนรายได้จากบริการดั้งเดิมที่ลดลง ส่วน M-motivating and transformation enhancement คือ การสร้างระบบการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้บุคลากร และส่งเสริมให้ผู้บริหารเป็นบุคคลต้นแบบ ให้ทุกคนพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

และสุดท้ายคือ S-sales teams integration กำหนดนโยบายแผนงานขาย และการดูแลลูกค้า โดยมีระบบบริหารงานขาย บูรณาการร่วมกันทุกพื้นที่

“ส่วนแนวคิด ‘ส่งพลัง สร้างสัมพันธ์’ จะทำให้บริการของ ปณท แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น ๆ เป็นการส่งพลังความสำเร็จไปให้ผู้รับ และการสร้างสัมพันธ์จะไม่ใช่แค่การส่งเร็ว เพราะส่งเร็วรายอื่นก็ทำได้ แต่คือการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ ปณท ดำเนินธุรกิจมาถึง 139 ปี และกำลังเข้าสู่ปีที่ 140 โดยภาพที่ชัดเจน คือ บุรุษไปรษณีย์ วันนี้ไม่ทำหน้าที่แค่ส่งจดหมาย และส่งพัสดุ แต่คือเพื่อนร่วมทางของคนไทย ที่เข้าถึงชุมชน”

บุรุษไปรษณีย์

ต่อยอดบุรุษไปรษณีย์

ผศ.ดร.เอกก์กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การต่อยอดศักยภาพของบุรุษไปรษณีย์ โดยการแปลงบุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่ 20,000 คน เป็นช่องทาง นั่นหมายถึงจะมีช่องทางขายเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ช่องทางทันที

“บุรุษไปรษณีย์ มีศักยภาพค่อนข้างมาก สามารถต่อยอดออกไปในหลาย ๆ มิติ ทั้งการจัดทำผลสำรวจต่าง ๆ (poll) จากเดิมสถาบันการศึกษาจะเป็นตัวหลักในการทำโพล หากภาคธุรกิจต้องการทำโพล หรือสำรวจความคิดเห็น เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ บุรุษไปรษณีย์ก็มีศักยภาพที่จะทำในส่วนนี้ โดยสามารถเก็บข้อมูลครั้งเดียวได้ถึง 20,000 ตัวอย่าง”

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองบริการบอกรับสมาชิก โดย ปณท ดำเนินการร่วมกับเจ้าของสินค้า เช่น การส่งผ้าอ้อมเด็ก และยาสีฟันเทพไทย เป็นต้น โดยผู้บริโภคจะสั่งสินค้าผ่านช่องทางของ ปณท เช่น เว็บไซต์ หรือสั่งผ่านบุรุษไปรษณีย์ก็ได้

โดยระบบจะตัดเงิน และมีบุรุษไปรษณีย์นำสินค้าไปส่งที่บ้านตามเวลาที่กำหนด เช่น ทุก 2 สัปดาห์ ทุก 3 เดือน เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยกับเจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายราย ทั้งสบู่ แชมพู และอาหารสัตว์ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมในระยะยาว

“ส่วนความร่วมมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM ในเบื้องต้น บุรุษไปรษณีย์จะทำหน้าที่ถ่ายรูปสินทรัพย์ให้ BAM ก่อน ในอนาคตอาจขยายไปสู่บริการอื่น ๆ รวมถึงการทำหน้าที่เก็บสินเชื่อ อย่างที่บอกคือปีนี้ เราวางกลยุทธ์ไว้ชัดเจนว่าจะต่อยอดศักยภาพของบุรุษไปรษณีย์ ไม่ได้เปลี่ยนให้เป็นพนักงานขาย”

“ในทางกลับกันต้องเข้าใจ และส่งมอบสินค้าที่ตรงความต้องการ ให้ถึงมือลูกค้า เราจะเข้าวิ่งหาสินค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะถ้ามาทำร่วมกับ ปณท เขาก็มีช่องใหม่เพิ่มขึ้นทันที 20,000 ช่องทาง มากกว่าการวางขายในร้านสะดวกซื้อที่มีหลัก 10,000 สาขา เราจะพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น”

เตรียมเปิดตัว 2 บริการใหม่

ผศ.ดร.เอกก์กล่าวต่อว่า ในปีนี้ยังจะมีบริการที่เตรียมเปิดตัวมีอีก 2 ส่วน คือ แพลตฟอร์ม “ตู้แดงแรงฤทธิ์” ที่จะมีบริการจัดการด้านเอกสาร (total document hindering) ทำหน้าที่
เป็นตัวกลางในการจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการยืนยันตัวตนลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์

คาดว่าจะเริ่มให้บริการในเดือน เม.ย. อีกบริการ คือ โปรเจ็กต์ Post ID เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการส่งจดหมาย และพัสดุ โดยผู้ส่งไม่ต้องเขียนที่อยู่ แต่ ปณท จะออกรหัส หรือ Post ID ให้ 
เมื่อใส่รหัสนี้ ปณท จะรู้ว่าต้องส่งให้ผู้รับที่ไหน โดยไม่ต้องเสียเวลาเขียนที่อยู่ และเพิ่มความปลอดภัยอีกขั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ

ขณะเดียวกัน ปณท ยังมีแผนปรับรูปแบบไปรษณีย์อนุญาตเพื่อให้ร้านเหล่านี้มีความแข็งแรงมากขึ้น ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 10,000 จุด (ร้านของไปรษณีย์ 200 สาขา ไม่รวมบริการ pick up service โดยบุรุษไปรษณีย์ที่เข้าไปรับพัสดุที่บ้านได้อีก 20,000 จุด) ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ปณท กับกลุ่มลูกค้า ผ่านบริการ
Post@Family โดยที่ผ่านมาให้ลูกค้าสะสมแต้ม แต่ในปีนี้จะเพิ่มกิจกรรมกระตุ้นให้ลูกค้านำแต้มที่เก็บสะสมมาใช้ โดยเตรียมงบฯไว้แล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท


“การปรับตัวของ ปณท ไม่ถือว่า ช้าไป เราเป็นผู้นำในตลาดขนส่งไทยอยู่เสมอ และเชื่อว่าการปรับตัวมีอยู่ 2 แนวทาง คือ ตามไม่ทัน หรือเราไม่ตาม ซึ่ง ปณท มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เราจะไม่แข่งขันราคาตามคู่แข่ง เพราะเชื่อว่าสงครามราคาเป็นอันตราย ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป และท้ายที่สุดจะกลับมาทำร้ายคุณภาพการบริการ”