ซิสโก้เปิดตัวเครื่องมือใหม่ ปิดช่องโหว่เอสเอ็มอีก่อนถูกโจมตีทางไซเบอร์

ซิสโก้ ไซเบอร์

ซิสโก้ เผยผลสำรวจไซเบอร์ซีเคียวริตี้เอสเอ็มอีไทย ชี้มีความกังวลกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น 76% เปิดตัวเครื่องมือใหม่ ประเมินผลไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ปิดจุดอ่อนก่อนถูกโจมตีทางไซเบอร์

วันที่ 21 เมษายน 2565 นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงานผลการศึกษาของซิสโก้เกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้สำหรับเอสเอ็มอี เรื่อง การเตรียมความพร้อมขององค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกสำหรับการป้องกันภัยทางดิจิทัล โดยเก็บข้อมูลเมื่อเดือนกันยายนปี 2564 จาก 3,748 ตัวอย่างใน 14 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย เป็นต้น โดยจากการศึกษาข้อมูลเฉพาะตลาดไทย พบว่า เอสเอ็มอีในไทยมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ถึง 76% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีในไทยพบเจอภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามากถึง 65% และประมาณครึ่งหนึ่ง หรือคิดสัดส่วน 46% ระบุว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์สร้างความเสียหายต่อธุรกิจคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโซลูชั่นไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอที่จะตรวจจับหรือป้องกันการโจมตี และการโจมตีเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อเอสเอ็มอี เช่น ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก สูญเสียรายได้ เป็นต้น

ขณะที่หลาย ๆ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานไฮบริด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่งผลให้มีพนักงานจำนวนมากที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายขององค์กรและเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกสำนักงาน โดยที่หลาย ๆ คนใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการดำเนินการดังกล่าว เอสเอ็มอีไทยที่ตอบแบบสอบถามสำหรับการศึกษานี้ระบุถึงภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร ซึ่งได้แก่ แล็ปทอปที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม การโจมตีแบบเจาะจงเป้าหมาย และการใช้อุปกรณ์ส่วนตัว

ล่าสุด ซิสโก้ ได้เปิดตัวเครื่องมือสำหรับการประเมินผลไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีในไทยมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร ซึ่งเครื่องมือใหม่นี้ใช้สำหรับการประเมินผลออนไลน์ โดยทำหน้าที่ประเมิน “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้” ของแต่ละองค์กรผ่านกลยุทธ์ “Zero Trust” หรือการตรวจจับการใช้งาน ทั้งผู้ใช้และอุปกรณ์ก็จะถูกตรวจสอบ โดยการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเครื่องมือดังกล่าวจะประเมินระดับความพร้อมขององค์กรใน 6 ด้านตามแนวทางของ Zero Trust ประกอบด้วย ผู้ใช้และการระบุอัตลักษณ์, อุปกรณ์, เครือข่าย, เวิร์กโหลด (แอปพลิเคชั่น), ข้อมูล และการดำเนินการด้านความปลอดภัย หลังจากที่องค์กรป้อนข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถและนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยขององค์กร เครื่องมือนี้ก็จะประเมินสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร โดยอ้างอิงเบนช์มาร์กของอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยเสริมสร้างสถานะความปลอดภัยโดยรวมและความพร้อมขององค์กรในการทำงานแบบไฮบริด

“เอสเอ็มอีสามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ของซิสโก้ในการประเมินความพร้อม โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ขององค์กร รวมถึงโอกาสและปัญหาช่องว่างที่จะต้องแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบรักษาความปลอดภัยได้ดีขึ้น”