บิ๊กเทคกับกฎหมายทำแท้ง

Photo by Jim WATSON / AFP
คอลัมน์ : Tech Time
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หากศาลสูงสุดสหรัฐมีมติคว่ำคำตัดสินว่าด้วยสิทธิในการทำแท้งจริง ๆ อย่างที่กำลังลือกันให้แซดในตอนนี้ นอกจากผู้หญิงจะโดนกำจัดสิทธิเหนือร่างกายตนเองแล้ว อุตสาหกรรมเทคก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย

วงการเทคโนโลยีนั้นเฟื่องฟูสุดขีดยุคที่สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกำลังเบ่งบาน ส่งผลให้บริษัทน้อยใหญ่ต่างออกนโยบายพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สนับสนุนสิทธิของพนักงานในการเข้าถึงบริการสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงการทำแท้งด้วย

ขณะเดียวกัน เทรนด์บริการ health tech และแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีไม่น้อยที่เป็นบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัวและการทำแท้ง

สิ่งเหล่านี้คงไม่เป็นปัญหา หากไม่ใช่เพราะเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Politico เผยแพร่เอกสารสำคัญที่อ้างว่าเป็นร่างความเห็นของตุลาการศาลสูงสุดสหรัฐ ส่วนใหญ่ที่ชี้ไปในทิศทางที่สนับสนุนการคว่ำคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กรณี Roe v. Wade”) ในปี 1973 ที่รับรองว่าผู้หญิงมีสิทธิภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญในการยกเลิกการตั้งครรภ์ของตัวเอง

คาดว่าหากคำตัดสินกรณี Roe v. Wade โดนคว่ำจริง จะมีอย่างน้อย 23 รัฐที่พร้อมประกาศให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือ เทกซัส สถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบิ๊กเทคหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Telsa Oracle หรือ HP ซึ่งหากปิดกั้นการทำแท้งเสรี ย่อมส่งผลให้ผู้หญิง รวมถึงพนักงานของบิ๊กเทคจำนวนมากโดนพรากสิทธิในการเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายทันที

ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่แม้ไม่ได้อยู่ในรัฐที่ต่อต้านการทำแท้ง แต่หากมีนโยบายที่สนับสนุนสิทธิของพนักงานในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายก็คงต้องหาทางประคองตัวให้ดี เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการล่าแม่มดโดยกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง

เช่น Amazon ที่เพิ่งประกาศเพิ่มค่าเดินทางให้พนักงาน 4,000 เหรียญต่อปีไม่กี่วันก่อนหน้าที่ร่างความเห็นของศาลจะหลุดออกมา เพื่อให้พนักงานสามารถเดินทางไปรับการรักษาอาการที่ “ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต” ในเมืองอื่น รวมถึงการทำแท้งหากไม่สามารถหาผู้ให้บริการได้ในระยะ 100 ไมล์จากบ้านตัวเอง

หรือ Citigroup ที่ประกาศนโยบายคล้ายกันนี้เมื่อต้นปี ก่อนโดนบรรดา ส.ส.หัวอนุรักษ์จากพรรครีพับลิกัน รุมจวกอย่างหนักถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐยกเลิกสัมปทานที่เคยทำกับกลุ่ม Citigroup เลยทีเดียว

Wired สื่อประจำวงการเทค วิเคราะห์ว่า นอกจากนโยบายบริหารบุคคลภายในที่ต้องรอบคอบแล้ว บิ๊กเทคยังต้องเตรียมตัวให้พร้อมกรณีที่บริการต่าง ๆ ของตนอาจถูกเพ่งเล็งและตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบริการที่ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลหรือบริการที่เกี่ยวกับการทำแท้ง

ไม่เพียงผู้ให้บริการต้องระวังตัวทุกฝีก้าวแล้ว ผู้ใช้บริการก็อาจโดนหางเลขไปด้วย เช่น ผู้ใช้แอป payment ที่ไม่มีระบบรักษาข้อมูลดีพอ อาจเสี่ยงโดนหมายหัวหากใช้แอปนั้นเพื่อบริจาคเงินสมทบกองทุนการทำแท้ง หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มอย่าง GoFundMe ก็อาจถูกกดดันไม่ให้ปล่อยให้มีการระดมทุนเพื่อส่งเสริมการทำแท้งไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี การที่ร่างความเห็นของศาลหลุดออกมาก่อน มีส่วนช่วยให้บริษัทเทคมีเวลาเตรียมตัวรับมือล่วงหน้า ซึ่งในแง่ของนโยบายภายในองค์กรนั้น นอกจากจะต้องดูแลเรื่องสวัสดิการของพนักงานในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแล้ว Wired ยังเห็นว่า บริษัทควรเปิดโอกาสให้พนักงานย้ายเมืองไปอยู่ที่อื่นเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ต้องการรวมถึงบริการทำแท้งด้วย

ส่วนเรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการ บริษัทควรปรับระบบการดูแลเรื่องการรักษาข้อมูลของผู้ใช้งานให้ปลอดภัยขึ้น ในขณะที่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง GoFundMe ก็ควรยืนยันในหลักการว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการของผู้ใช้งานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

ที่สำคัญ อุตสาหกรรมควรถือโอกาสนี้แสดงจุดยืนในการไม่เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อกีดกันหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย โดยต้องถือเป็นความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส ที่จำเป็นต้องพึ่งพิงบริการเทคโนโลยีอย่างมากในการเข้าถึงบริการและข้อมูลพื้นฐาน และมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากนโยบายรัฐ