พิษเงินเฟ้อป่วนธุรกิจไอที “ชิป” ไม่ขาดแล้ว แต่ต้นทุนพุ่ง-กำลังซื้อฟุบ-สต็อกล้น

พิษเงินเฟ้อป่วนธุรกิจไอที

วิกฤตเศรษฐกิจโลก ‘พิษเงินเฟ้อ’ ป่วนอุตสาหกรรมไอทีอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ส่งสัญญาณชัดปลายปีเตรียมปรับราคาขึ้นพรึ่บ ‘ชิป’ ไม่ขาด แต่กำลังซื้อหายดันสต็อกสินค้าล้นคลัง

วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 รายงานข่าวจาก Nikkei Asia ระบุว่ายักษ์อินเทล( Intel)ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะขึ้นราคาไมโครโปรเซสเซอร์ ชิปประมวลผลกลาง และชิปสำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น ชิปสำหรับตัวรับตัวส่ง Wifi โดยอาจปรับขึ้น 10-20% ในไตรมาส4/2565 เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อ

รายงานข่าวอ้างถึงคำกล่าวของผู้บริหาร Intel ที่อธิบายว่าการขึ้นราคาเป็นสิ่งจำเป็น สืบเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ 9.1% ในเดือน มิ.ย. สูงสุดในรอบ 40 ปี ต้นทุนการผลิตและวัถุดิบต่าง ๆ ปรับราคาเพิ่มขึ้นสร้างแรงกดดันมหาศาลต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิป

แต่มีสิ่งที่น่าเป็นกังวลไม่แพ้กันคือการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงจากปัจจัยเดียวกันทำให้การตัดสินใจด้านราคาเป็นเรื่องยากทำให้การปรับราคาเพิ่มขึ้นยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเป็นเท่าไร ตั้งแต่ตัวเลขหลักเดียวไปจนถึง 10-20% ซึ่งจะแตกต่างกันตามประเภทของชิป

และไม่ใช่แค่ อินเทล แต่บริษัทผลิตชิปรายอื่นก็เตรียมปรับขึ้นราคาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Semiconductor Manufacturing International Corp. ของจีน หรือผู้ผลิตชิปรายย่อยอื่น ๆ ที่เริ่มให้ข้อมูลกับนักลงทุนว่าจากภาวะต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องขึ้นราคา มิฉะนั้นจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 10%

ขณะเดียวกัน ซัพพลายเออร์วัตถุดิบสำหรับผลิตชิป เช่น Shin-Etsu Chemical, Sumco และ Showa Denko แจ้งกับลูกค้าว่าพวกเขาจะขึ้นราคาอย่างน้อย 20%

สอดคล้องกับคำยืนยันนางดอริส ซู (Doris Hsu) ซีอีโอของ GlobalWafers ผู้ผลิตวัสดุเวเฟอร์ (ซิลิคอนเวเฟอร์คือส่วนประกอบหลักของแผงวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์) อันดับ 3 ของโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่ากำลังขึ้นราคาสินค้าสำหรับลูกค้าที่ผลิตชิป

Nikkei Asia รายงานเพิ่มเติมว่า ความต้องการสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทีวี และเกมคอนโซลลดลงตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาส่งผลให้ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มี “สินค้าค้างคลัง” หรือสินค้าที่ยังขายไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก เห็นได้จากกรณี ‘ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์’ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอทีรายใหญ่ของโลกได้แจ้งซัพพลายเออร์ให้ระงับการจัดส่งวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตอุปกรณ์หลายประเภทแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Intel อย่าง Acer ได้เตือนถึงภาวะถดถอยของตลาด โดยนายเจสัน เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอเซอร์ ไต้หวัน กล่าว Nikkei Asia ว่าบริษัทของเขาไม่มีปัญหาการขาดแคลนชิปอีกต่อไป

“ซีอีโอของบริษัทซัพพลายเออร์ชิปบางคนถึงกับโทรหาผม เพื่อขอให้ซื้อชิปเพิ่มแต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว”

Nikkei Asia รายงานด้วยว่า โรงงานผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) ได้ออกมาเตือนว่า แม้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 76% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2/2565 แต่มีภาวะ “สินค้าล้นคลัง” (excessive inventory) ที่สะสมในช่วงหลังของปีนี้และปีถัดไปที่เกิดขึ้นกับลูกค้าและจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ผลิตชิป

อย่างไรก็ตาม TSMC แจ้งลูกค้าว่าจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นตัวเลขหลักเดียว (Single Digit) โดยช่วงต้นปี 2566

จึงอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตการณ์ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักส์เตอร์จบลงแล้วก็จริงแต่วิกฤตใหม่ที่กำลังจะตามมาคือ “สินค้าล้นคลัง” ของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เมื่อยักษ์ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เริ่มหยุดรับวัตถุดิบบางอย่างเพื่อบริหารจัดการสินค้าในคลัง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ ปัญาหาเงินเฟ้อที่ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอที อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายทางผู้บริโภคโดยถ้วนหน้ากัน