‘ชิป’ไม่ขาดแล้ว ยักษ์ไอทีห่วงกำลังซื้อ ลุยผ่อน 0% รับภาระ ‘ดอกเบี้ย’แทนลูกค้า

ชิป’ไม่ขาดแล้ว

ปัญหาชิปขาดคลี่คลาย ยักษ์ผู้ผลิตสินค้าไอทีเข้าคิวขนสินค้าบุกตลาดคึกคัก ขณะที่วิถีการทำงาน ‘ไฮบริด’-เรียนออนไลน์ ดันดีมานด์โตต่อ แต่ปัญหา ‘น้ำมันแพง-เงินเฟ้อ’ทุบกำลังซื้อผู้บริโภค ‘เลอโนโว’นำร่องอัดงบการตลาดรับภาระดอกเบี้ย ‘เงินผ่อน’ช่วยลูกค้า

25 มิถุนายน 2565 – ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’รายงานว่า สถานการณ์ขาดแคลน “ชิปเซ็ท’ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าไอที คลี่คลายลงแล้วทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ทยอยเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่จะนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเกมมิ่ง โน้ตบุ๊ก Legion 5i และ5i Pro ของเลอโนโว และผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อป ที่รองรับโปรเซสเซอร์รุ่นล่าสุด 12th Gen Intel Core ของเอเซอร์หลายรุ่น อาทิ Swift5, Swift3, Aspire3, เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก Predator Helios300, Nitro5 และเกมมิ่ง เดสก์ท็อปด้วย Orion, TC50 รวมถึงออลอินวันพีซี Acer AIO เป็นต้น

อีกทั้งในระหว่างวันที่ 7-10 ก.ค.2565 จะมีงานมหกรรมสินค้าไอที ‘คอมมาร์ท2022’ ครั้งที่สองของปีนี้ ซึ่งบมจ.เออาร์ไอพี ผู้จัดการ ระบุว่าแบรนด์สินค้าไอทีชั้นนำให้ความสนใจจองพื้นที่เพื่อนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายในงานคึกคักกว่าทุกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าไอทีต่างๆ จะจบลงแล้วทำให้แบรนด์ต่างๆ สามารถผลิตสินค้าเพื่อนำมาทำตลาดได้ตามปรกติขณะที่ความต้องการใช้งานก็น่าจะยังมีจากการทำงาน และเรียนออนไลน์ที่ยังคงอยู่แต่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจไอทียังมีความเป็นกังวลต่อปัจจัยลบต่างๆ ทั้งปัญหาน้ำมันแพง, เงินเฟ้อที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

แหล่งข่าวในธุรกิจไอที แสดงความคิดเห็นกับ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ว่าปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากจากการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ ตั้งแต่สิ่งของจำเป็นในการดำเนินชีวิต และอื่นๆ จะทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นอย่างแน่นอน กระทบกับการทำตลาดสินค้าไอทีด้วย แม้จะเป็นของจำเป็น เช่น ระยะเวลาในการเปลี่ยนเครื่องนานขึ้น หรือต้องมีรูปแบบการชำระเงินที่ยืดหยุ่น เช่น ผ่อน 0% หรือใช้ก่อนจ่ายทีหลัง (Pay Later) เป็นต้น เพื่อให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่ากับ ‘ประชาชาติธุรกิจว่า สถานการณ์เรื่องชิปขาด และการปิดโรงงานที่จีนไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ทำให้บริษัทมีสินค้าเพียงพอสำหรับการทำตลาดแต่ที่น่าเป็นห่วงกว่า คือเรื่องน้ำมันแพง และเงินเฟ้อที่จะส่งผลถึงกำลังซื้อของประชาชน และต้นทุนการขนส่งสินค้าบางอย่างของเราด้วย

‘ยอดขายคงไม่เติบโตเท่ากับช่วงโควิดแรกๆ ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ที่น่าจะยังเติบโตอยู่คือตลาดกลุ่มเกมมิ่งที่กินส่วนแบ่งไปแล้วกว่า 30% เพราะกลุ่มนี้นิยมอัพเกรดคอมพิวเตอร์รองรับเกมใหม่ๆ’

ด้านนายวรพจน์ ถาวรวรรณ ผู้จัดการทั่วไป ประจำเมียนมา ลาว กัมพูชา และผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์คอมซูมเมอร์ เลอโนโว ประเทศไทย กล่าวว่าแม้สถานการณ์ชิปขาดในอุตสาหกรรมอื่นๆ จะยังมีปัญหาแต่สำหรับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไม่มี ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทมีออเดอร์ใหญ่ที่ค้างมา 4-5 ปี ทำให้มีสต๊อกเหลือเฟือ ประกอบกับกระแสความนิยมในการซื้อชิปและการ์ดจอไปทำเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซีเริ่มซาลงไปมากแล้วจึงไม่มีการแย่งชิ้นส่วนเพื่อนำไปผลิตอุปกรณ์ขุด

‘ตอนนี้ปีที่แล้วยอดขายโตขึ้นแรงมากจากดีมานด์ที่สูงมาก แต่ยังไม่สามารถตอบสนองดีมานด์ได้ทั้งหมดเพราะมีชิปไม่เพียงพอ ทำให้ยอดขายตอบสนองความต้องการได้ราว 60-70% ของออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการแต่ในปีนี้คาดว่า ตลาดจะยังโตแต่ไม่มาก
สัก 10% จากดีมานด์เดิมที่ยังเหลือ แต่ลดลงกว่าปีที่แล้ว เพราะบางส่วนเพิ่งซื้อไปเมื่อ1-2 ปี ที่แล้วจึงยีงไม่หมดสภาพ”

นายวรพจน์กล่าวต่อว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและในประเทศไทยส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดแต่ปัจจุบันมีโปรแกรมการเงินรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยสภาพคล่องทางการเงินทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่จำเป็นได้ ทั้งเงินผ่อนกับบัตรเครดิต รวมถึงแพล็ตฟอร์มประเภท BNPL (Buy now Pay later)

‘แคมแปญเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระ เพราะสินค้าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แต่คือของจำเป็น เมื่อจำเป็นต้องซื้อ เช่นเครื่องเก่าพังทำงานไม่ได้ มันรอไม่ได้ ทำให้ลูกค้าเกิน 50% ที่ซื้อของเรามักจะเป็นลูกค้าเงินผ่อน โดยเลอโนโว ใช้งบการตลาดของเราเองเข้าไปอุดหนุนในเรื่องดอกเบี้ยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้ลูกค้า’