มองทะลุดีลควบรวมทรู-ดีแทค

ทรู-ดีแทค
คอลัมน์ : Tech_Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค นอกจากจะเป็นประเด็นร้อนแรงในแง่ผลกระทบที่อาจมีต่อผู้บริโภคแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขันระดับโลกด้วย

ความพยายามหาทางรอดของดีแทคและทรูไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่เป็นเทรนด์ที่ผู้ให้บริการมือถือทั่วโลกต่างให้ความสนใจ หลังจากต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง “บิ๊กเทค” ซึ่งเป็นเจ้าของ OTT (over-the-top) แพลตฟอร์ม ที่นับวันจะคืบคลานเข้ามาเบียดบังส่วนแบ่งรายได้ของผู้บริการมือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อราว 20-30 ปีก่อน ค่ายมือถือลำพังรายได้จากบริการเบสิกอย่างค่าโทร.กับค่า SMS ก็อู้ฟู่แล้ว แต่วันดีคืนดี ดันมีแอปอย่าง WhatsApp Messenger หรือ LINE โผล่เข้ามาแทนที่ ทำให้รายได้หายวับไปมากโข

แรก ๆ ค่ายมือถือคิดว่ายังรับมือไหว ทยอยปรับตัวออกแพ็กเกจดาต้าเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ขณะที่เทคโนโลยีมือถือค่อย ๆ ไต่ระดับจาก 1G สู่ 5G การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ เผลอแป๊บเดียว
ทราฟฟิกกว่าครึ่งของเครือข่ายทั่วโลกก็มาจากผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้

จากรายงานของ Sandvine บริษัทมอนิเตอร์ทราฟฟิกบนเครือข่ายมือถือ พบว่า ปี 2021 ปริมาณการใช้ดาต้าบนเครือข่ายมือถือทั่วโลก 56.9% มาจาก 6 แพลตฟอร์มหลัก นำโดย Google (20.99%) ตามด้วย Facebook (15.39%) Netflix (9.39%) Apple (4.18%) Amazon (3.68) และ Microsoft (3.32%) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่บิ๊กเทคแค่ 6 ราย มีปริมาณการใช้ดาต้ามากกว่าบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกรวมกัน

ตัวเลขนี้ทำให้โอเปอเรเตอร์มือถือยักษ์ใหญ่ในยุโรป 13 ราย ต้องยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้คุมกฎ เรียกร้องให้ออกข้อบังคับเพื่อให้บิ๊กเทคช่วยออกเงินลงทุนขยายและพัฒนาเครือข่ายด้วย

เมื่อดูรายชื่อผู้ลงนามในจดหมายดังกล่าว ก็ไม่แปลกใจที่เห็น Telenor ผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทคและคู่เจรจาของทรูในดีลควบรวมล่าสุดรวมอยู่ด้วย เคียงคู่กับค่ายมือถือชั้นนำอื่น ๆ อย่าง Telefonica, Orange, KPN, BT Group, Tel-ekom Austria, Vivacom, Proximus, Altice Portugal, Telia Company and Swisscom

ข้อเรียกร้องลักษณะใกล้เคียงกันยังลามไปถึงอเมริกา ที่มีการกดดันให้ “บิ๊กเทค” สมทบเงินเข้ากองทุน USF (Universal Service Fund) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตด้วย หลังจากที่ค่ายมือถือต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้มาตั้งแต่ปี 1997

จะว่าไปก็น่าเห็นใจ เพราะนอกจากจะต้องทนทุกข์จากการเห็นคนอื่นร่ำรวยจากหยาดเหงื่อและเม็ดเงินของตัวเองแล้ว บริษัทมือถือก็ยังต้องกัดฟันลงทุนพัฒนาเครือข่ายต่อไปเพราะมีเงื่อนไขใบอนุญาตค้ำคออยู่ บวกกับมีบทเรียนมาแล้วว่า หากวันไหนเน็ตเวิร์กล่มเตรียมตัวโดนด่าหูดับตับไหม้ได้เลย

แต่จะโยนความรับผิดชอบให้แพลตฟอร์มทั้งหมดก็ไม่แฟร์ เพราะที่ผ่านมาค่ายมือถือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็มีความสัมพันธ์กันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เช่น หากไม่มีแพลตฟอร์ม ค่ายมือถือจะเอารายได้ดาต้ามาจากไหน ในทางกลับกัน หากไม่มีค่ายมือถือ แพลตฟอร์มก็ขาดท่อส่งคอนเทนต์ไปให้ผู้บริโภคเช่นกัน

การเรียกร้องให้ “บิ๊กเทค” ช่วยลงทุนในเครือข่ายจึงอาจเป็นแค่การโยนหินถามทาง ไม่ได้คาดหวังผลอะไรมากนัก แต่การควบรวมระหว่างค่ายมือถือด้วยกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า นอกจากจะลดต้นทุนยังเพิ่มอำนาจต่อรองกับ “บิ๊กเทค” และอาจนำไปสู่การสร้างช่องทางหารายได้ใหม่ในอนาคต

บทวิเคราะห์ของ Techradar มองว่า สิ่งที่ค่ายมือถือมีเหนือบิ๊กเทค คือ “ข้อมูล” ถึงแม้ว่าบิ๊กเทคจะมีข้อมูลของผู้ใช้งานไม่น้อย แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะบนแพลตฟอร์มหรือแอปของตัวเองหรือของพาร์ตเนอร์ ในขณะที่ค่ายมือถือมีข้อมูล “ทุกอย่าง” ของผู้ใช้งาน ตั้งแต่ข้อมูลการจ่ายบิลไปจนถึงการเดินทาง ที่อยู่ ประวัติการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ อีกมากมาย

“ข้อมูล” คือ สมบัติล้ำค่าที่สร้างรายได้มหาศาลจากบริการโฆษณาให้บิ๊กเทค จึงเชื่อกันว่า หากโอเปอเรเตอร์สามารถนำขุมทรัพย์นี้มาใช้บ้าง ก็ย่อมมีโอกาสสร้างรายได้ใหม่ที่พลิกฟื้นธุรกิจ แถมอาจเป็นใบเบิกทางสู่การเป็นพันธมิตรกับบิ๊กเทคแบบ “เท่าเทียม” มากขึ้น

สะท้อนได้จากความเคลื่อนไหวของค่ายมือถือทั่วโลกที่ไล่กว้านซื้อบริษัทคอนเทนต์และ Adtech กันเป็นแถว เช่น AT&T ที่ยอมทุ่มทุนซื้อกิจการของ TimeWarner ตามด้วยการเข้าซื้อ Adtech อย่าง AppNexus อีก 2 พันล้านเหรียญ

กรณีการควบรวมของทรู-ดีแทค ซึ่งเป็นการรวมเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานกว่าครึ่งประเทศ ย่อมหมายถึงการกุมข้อมูลของผู้บริโภคหลายสิบล้านคนไว้ในมือ แถมยังได้ประโยชน์ด้านเงินทุนและการแชร์ทรัพยากรอื่น ๆ อีก ดังนั้น ดีลนี้จึงมีแต่ข้อดีสำหรับบริษัท แต่จะดีต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์