“ทรู-ดีแทค” กระทุ้งดีลควบรวม ยันไม่ผูกขาด-เลี่ยงฟ้องร้อง

ทรู-ดีแทค

2 แม่ทัพ “ซี.พี.-เทเลนอร์” ออกโรงคู่อัพเดตแผนควบรวม “ดีแทค-ทรู” ยันไม่ผูกขาด แต่เปลี่ยนเกมธุรกิจพลิก 2 บริษัทอ่อนแอเป็นแข็งแรง ย้ำ “กสทช.” มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข ดูแลผู้บริโภค พร้อมให้ความร่วมมือ และไม่อยากเดินไปสู่การฟ้องร้อง

กลุ่มเทเลนอร์ และเครือ ซี.พี. ประกาศดีลควบรวมกิจการระหว่าง “ดีแทค และทรู” ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจและพัฒนาต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคมภายใต้บริษัทใหม่ไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (technology company) ที่ทั้งคู่จะถือหุ้น และบริหารร่วมกันอย่างเท่าเทียมในรูปแบบที่เรียกว่า “equal partner”

โดยทั้งคู่ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับแผนธุรกิจไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว เมื่อเดือน ม.ค. 2565 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช.

ล่าสุด (22 ก.ค. 2565) กลุ่มเทเลนอร์ และ ซี.พี. จัดงานแถลงข่าวร่วมกันอีกครั้งโดยระบุว่า เพื่ออัพเดตความคืบหน้า นำโดยนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

ย้ำจุดยืนรับมือโลกเปลี่ยน

โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ย้ำว่าการควบรวมในครั้งนี้เกิดจากทั้งสององค์กรมองว่า ศักยภาพในการแข่งขันของทั้งคู่ค่อย ๆ น้อยลง และพบกับความเสี่ยงที่สูงมากจากการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปของระบบการแข่งขัน

“โทรคมนาคมไม่ได้แข่งกับโทรคมนาคมด้วยกัน แต่แข่งกับผู้ประกอบการระดับโลกอย่าง โอทีที (over the top) ถ้าดูรายได้อุตสาหกรรมมือถือใน 2-3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าลดลงทุกราย แต่การลงทุนสูงขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 4G 5G และอื่น ๆ รายได้จากบริการเสียงตกรุนแรงต่อเนื่องทุกปี ทำให้สนามการแข่งเปลี่ยนไปมาก ขณะที่ศักยภาพการแข่งขันของทั้งสององค์กรก็ลดลงไปเรื่อย ๆ ทั้งคู่ก่อหนี้สูงขึ้นจากการลงทุนและเพื่อส่งเงินให้ภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถลงทุนได้เต็มที่ การร่วมมือกันจึงทำให้ทั้งคู่แข็งแรงขึ้น”

พร้อมร่วมมือ กสทช.

และบริษัทยินดีที่จะร่วมมือกับ กสทช.ในการกำหนดมาตรการเพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งอยากให้มองด้วยว่าเป็นการควบรวมที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันได้ดีขึ้น และอาจทำให้ดัชนีการกระจุกตัวตามหลักเศรษฐศาสตร์ (HHI) มีโอกาสลดต่ำลงได้ด้วย เพราะความร่วมมือทำให้มีการแชร์ใช้โครงข่ายร่วมกัน ทำให้คุณภาพการบริการดีขึ้น

นายศุภชัยย้ำว่า นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดโดยธรรมชาติของลูกค้าทรูและดีแทคแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงคลื่นความถี่ และทรัพยากรโครงข่ายต่าง ๆ การพัฒนาคุณภาพบริการจะดีขึ้น เพราะข้อจำกัดด้านการลงทุนของทั้งคู่จะหายไป

“ในแง่ราคามีการควบคุมโดย กสทช.อยู่แล้ว ซึ่งไทยมีค่าบริการข้อมูลเกือบจะต่ำที่สุดในโลก อาจเป็นรองแค่อินเดีย ทั้งการควบรวมครั้งนี้ไม่มีการบังคับเลย์ออฟ ดังนั้นศักยภาพของความร่วมมือด้านบุคลากรจะทำให้บริการดีขึ้น และการควบรวมครั้งนี้เป็นอีโคพาร์ตเนอร์ชิประหว่างเทเลนอร์ และเครือ ซี.พี. ไม่ได้เป็นการควบรวมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในระดับที่สูงมาก”

ส่วนการแข่งขันมองว่าไม่ได้ขึ้นกับจำนวนโอเปอเรเตอร์ แต่ขึ้นอยู่กับว่าโอเปอเรเตอร์ที่แข็งแรงกับอ่อนแอมากกว่า ถ้ามี 3 ราย แต่มีเพียงรายเดียวที่แข็งแรงก็ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน จึงเชื่อว่าถ้ามีสองรายที่แข็งแรงดีกว่า

ย้ำไม่อยากเห็นการฟ้องร้อง

นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า การรวมกิจการไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ ซึ่งตาม พ.ร.บ.กสทช. ปี 2561 ระบุว่า กสทช.ไม่ต้องอนุมัติ แต่มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบในทางลบ และสร้างผลประโยชน์ในทางบวก ซึ่งบริษัทยินดีทำงานร่วมกับ กสทช. เพื่อตอบสนองเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนผู้ให้บริการ

“กระบวนการของ กสทช. ตามกำหนดต้องเสร็จในเดือน พ.ค. แต่เลื่อนมาเพราะ กสทช.ชุดใหม่ต้องการเวลาศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเราเข้าใจ แต่ก็อยากเห็นการเกิดขึ้นเร็ว เพราะจะกระทบต่อตลาดทุน และความมั่นใจของตลาดทุน อำนาจ กสทช.มีลักษณะคล้ายกับ กขค. แต่ออกเงื่อนไข ถ้าบริษัทไม่รับเงื่อนไข กสทช.สามารถนำเงื่อนไขเหล่านี้ไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อยับยั้ง ซึ่งไม่มีใครอยากให้ไปสู่ตรงนั้น”

ดันไทยผู้นำดิจิทัลอาเซียน

ด้านนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลนอร์ กรุ๊ป เสริมว่า การร่วมมือของ ซี.พี.และเทเลนอร์ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่จะไม่เข้าไปควบคุมในบริษัทที่ตั้งใหม่ แต่จะเป็นลักษณะของความร่วมมือที่พัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันในการส่งมอบนวัตกรรม และร่วมสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ตอัพในประเทศไทย

แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ตั้งกองทุน สนับสนุนสตาร์ตอัพ 2.ตั้งศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี 3.การเชื่อมโยงตลาดในประเทศกับสู่สากลโดยความแข็งแกร่งของทั้งเทเลนอร์ และ ซี.พี.กรุ๊ปที่มีความโดดเด่นในตลาดโลก

“โทรคมนาคมไทยเปลี่ยนไปแล้วดังที่คุณศุภชัยว่า และในมุมมองของผมและไทยอยู่จุดที่ดีที่สุดที่จะกลายเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาค แต่ยังไปไม่ถึงเพราะมีบางสิ่งขัดขวาง เช่น ระบบนิเวศไม่เอื้อสตาร์ตอัพ”

ทั้งย้ำด้วยว่า อยากเห็น กสทช.ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยทั้งสองบริษัทยินดีที่จะเข้าไปชี้แจงรายละเอียด ? ในข้อกังวลต่าง ๆ ทั้งมองว่าการแข่งขันในตลาดที่ผู้บริโภคในไทยกังวล

ขอเสริมว่า landscape ของธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นการแข่งขันย่อมเปลี่ยนไป