ธุรกิจแห่ลงทุน “นครสวรรค์” ทุ่มหมื่นล้านสู่ฮับเหนือตอนล่าง

นครสวรรค์

หลังจากภาครัฐมีนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เชื่อมผ่านเส้นทางสู่ภาคเหนือ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด และส่วนต่อขยายของทางรถไฟสายเหนือแยกจากช่วงชุมทางบ้านภาชีเชียงใหม่ ที่สถานีรถไฟชุมทางปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

และไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีรถไฟด่านแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทำให้ปลุกชีพ “เมืองปากน้ำโพ” หรือ “นครสวรรค์” กลับมาอีกครั้ง จากที่ถูกมองเป็นเพียง “เมืองผ่าน”

กลุ่มทุนยักษ์-โรงงานแห่ลงทุน

ล่าสุดภาพการขับเคลื่อนของกลุ่มทุนใหญ่เข้าไปปักธงลงทุนในจังหวัดนครสวรรค์กันอย่างมโหฬาร ทั้งกลุ่ม CPN ไปลงทุนทำศูนย์การค้า กลุ่มไทวัสดุ ยักษ์อสังหาริมทรัพย์อย่างกลุ่มศุภาลัย กลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ รวมถึงกลุ่มทุนท้องถิ่นอย่างกลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย ส่งผลให้ทุนท้องถิ่นอย่างกลุ่มวี-สแควร์และกลุ่มแฟรี่แลนด์เร่งปรับตัว

สอดคล้องกับรายงานจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ (สะสม) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 722 โรงงาน เงินลงทุนรวม 94,201 ล้านบาท และมีจำนวนคนงาน 20,898 คน สาขาอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด

อันดับแรกของจังหวัด ได้แก่ กิจการเกี่ยวกับน้ำตาลซึ่งทำจากอ้อย รองลงมา ได้แก่ กิจการเกี่ยวกับนม ผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งเป็นเส้น เม็ด ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ เป็นหลัก หลายธุรกิจกำลังปรับแผนขยายการลงทุน ซึ่งทั้งหมดสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจยิ่ง

ส่องปัจจัยบวกหนุนลงทุน

นายอนันต์ ชำนาญโลหะวานิช ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปรากฏการณ์ของกลุ่มทุนที่เข้ามาปักหมุดลงทุนในนครสวรรค์ มีหลายปัจจัยที่เป็นแรงดึงดูด

ปัจจัยแรกคือ พื้นฐานเดิมของความเป็นเมืองเศรษฐกิจ เมืองธุรกิจการค้า ค้าปลีก ค้าส่ง อันดับ 1 ในภูมิภาคเหนือตอนล่าง ปัจจัยที่สอง ตำแหน่งของเมืองที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ความสะดวกด้านการคมนาคมในการเชื่อมเมืองต่อเมือง

ซึ่งนครสวรรค์ถือเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าขนาดใหญ่ของหลายกลุ่มทุนด้านขนส่งสินค้า เพื่อกระจายไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงศูนย์กระจายสินค้า DC ขนาดใหญ่ของกลุ่มซีพี ออลล์ และศูนย์กระจายสินค้า DURBELL ของกลุ่มกระทิงแดง

ปัจจัยที่สาม โครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ ที่วางตำแหน่งนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ กับโครงการลงทุนรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ที่สามารถต่อท่อกับประเทศเมียนมา และต่อไปยังอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เชื่อมกับ สปป.ลาว รวมถึงการมีสถานีรถไฟความเร็วสูงที่จะขึ้นสู่ภาคเหนือในอนาคต

“ภาพอนาคตของนครสวรรค์คือ hub ด้านโลจิสติกส์ทั้งรถไฟทางคู่เชื่อมระหว่างชายแดน รถไฟความเร็วสูง การขนส่งทางน้ำ และทางบก รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ของเมืองด้าน health & medical hub ที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพ (wellness) ซึ่งหอการค้านครสวรรค์กำลังผลักดัน”

ปัจจัยที่สี่ การปรับผังเมืองใหม่จากสีส้มเป็นสีแดงบริเวณเขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ จะทำให้สร้างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสามารถสร้างอาคารสูงได้ นับเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อให้เกิดการลงทุนอย่างคึกคัก

ทุนใหญ่ถมกว่า 3.2 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวนักธุรกิจในจังหวัดนครสวรรค์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดนครสวรรค์ขณะนี้ มีทั้งกลุ่มทุนส่วนกลางและกลุ่มทุนท้องถิ่น แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม โดยการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกมี 3 กลุ่มทุนจากส่วนกลางคือ กลุ่ม CPN กลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ และกลุ่มศุภาลัย

สำหรับกลุ่ม CPN หรือเซ็นทรัลพัฒนา ถือเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ที่ยึดพื้นที่บนทำเลใจกลางเมือง ได้ยื่นขออนุญาตลงทุนสร้างศูนย์การค้า โรงแรมเซ็นทารา และคอนโดมิเนียม บนที่ดินเก่าซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงแรมพิมาน อยู่ติดกับสถานีขนส่งนครสวรรค์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการในลักษณะมิกซ์ยูส (mixed-use) ที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่

ตาราง นคร

 

ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และรวมถึงการลงทุนของไทวัสดุ ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของเซ็นทรัล รีเทล คาดว่ามูลค่าการลงทุนราว 500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าการลงทุนของกลุ่ม CPN คาดว่าอยู่ที่ราว 9,500-10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โครงการของกลุ่ม CPN จะมีการลงทุนโครงการโรงพยาบาลสินแพทย์ ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มสินแพทย์เอง โดยอาจเป็นลักษณะเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ของ CPN คาดว่ามูลค่าการลงทุนราว 3,000 ล้านบาท

ในส่วนของกลุ่มศุภาลัย เป็นการลงทุนบ้านแนวราบ-บ้านเดี่ยว จำนวน 3 โครงการ สำหรับมูลค่าการลงทุนคาดว่าอยู่ที่หลักหลายร้อยล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในส่วนของกลุ่มทุนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่ม KTIS หรือกลุ่มโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โดยกลุ่มทุน GKBI และ KTIS ร่วมทุนกับ NatureWorks Asia Pacific ลงทุนทำโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 บนเนื้อที่ราว 2,000 ไร่ ในตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

ซึ่งเป็นไบโอฮับแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีพนักงานที่ทำงานในพื้นที่กว่า 2,000 คนขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวการเตรียมปรับตัวของ 2 ห้างท้องถิ่นคือ กลุ่มวี-สแควร์ และกลุ่มแฟรี่แลนด์ ที่เตรียมขยายการลงทุนและรีโนเวตห้างครั้งใหญ่ ส่วนมูลค่าการลงทุนยังมีตัวเลขไม่แน่ชัดในขณะนี้


กระแสน้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน ยังคงไหลเอื่อยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางกระแสการไหลบ่าของกลุ่มทุนที่กำลังถาโถมเมืองปากน้ำโพ เป็นภาพอนาคตของนครสวรรค์ ที่จะ transform สู่มหานครเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างอย่างก้าวกระโดด