สุราษฎร์ธานีจับมือ RSPO ยกระดับเกษตรกร MOU ต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน

สุราษฎร์ธานี ร่วมกับ RSPO และภาคีพันธมิตร MOU ยกระดับปาล์มน้ำมันกว่า 1 แสนไร่ นำร่องสู่มาตรฐานเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของไทย

วันนี้ 19 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สุราษฎร์ธานีจัดงานปาล์มเม็ค ไทยแลนด์ 2022 ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับสุราษฎร์ธานีสู่เมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย

โดยพันธมิตรเกษตรกรรายย่อย RSPO ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีมากกว่า 4,000 คน รวมกว่า 30 กลุ่ม อาทิ สหกรณ์นิคมพนม วิสาหกิจชุมชนตาปี-อิปัน ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไทรขึง-บางสวรรค์ ฯลฯ นับเป็นแบบอย่างสําหรับผู้ปลูกปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน RSPO สําหรับเกษตรกรรายย่อย เช่น การนําแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด การลดต้นทุนการผลิต ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และความมุ่งมั่นในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

จากข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบดังกล่าว ย่อมทําให้ความร่วมมือนี้ สามารถเติมเต็มความสมบูรณ์และการ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายให้ สุราษฎร์ธานี เป็นต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนของ ประเทศไทย ผ่านความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในจังหวัด

เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและการผลิตน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นไปที่การรวมกลุ่มโดยการสร้างแบบจําลองที่ยั่งยืน ช่วยเพิ่มการเข้าถึงตลาดสําหรับน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง และเสริมคํามั่นสัญญาในตลาด โดย RSPO จะแบ่งปันความรู้จากกรณีศึกษาที่มีอยู่เกี่ยวกับแนวทางเขตอํานาจในการรับรอง เพื่อช่วยในการจัดโครงการที่มีข้อผูกมัดในขอบเขตพื้นที่ต่อการรับรอง RSPO

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นผู้ผลิตปาล์มเป็นอันดับ 1 ภายในประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 1.3 ล้านไร่ ตอนนี้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังรวมตัวกันผลักดันปาล์มอย่างยั่งยืน ทั้งการทำ RSPO สร้างผลผลิตปาล์มให้มีคุณภาพสูง ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า สนับสนุนการใช้นวัตกรรม และไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย

นอกเหนือจากการผลิตปาล์มใช้ในประเทศแล้ว สุราษฎร์ธานียังเป้าส่งออกไปยังต่างประเทศให้ได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ปลูกปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO จํานวน 109,524.81 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ปลูกปาล์มในจังหวัดที่จะเป็นต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของไทย

“ถ้าเราทำมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับได้ เราจะได้ราคาผลผลิตสูงขึ้น ดังนั้นสุราษฎร์ธานีจึงพยายามขับเคลื่อนจังหวัดเพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบปาล์มน้ำมันยั่งยืนของไทย เพราะจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีผลผลิตมากขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือรายได้เพิ่มขึ้น และจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย”

ด้านนายโจเซฟ เดอ ครูซ ประธานกรรมการบริหาร RSPO กล่าวว่า เป้าหมายคือต้องการสร้างเมืองปาล์มน้ำมันที่รักสิ่งแวดล้อมและเกิดความยั่งยืน แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม กำลังของ RSPO ฝ่ายเดียวคงไม่พอ การนำของภาครัฐและนักวิชาการก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“RSPO มีความสุขที่ได้เห็นโครงการนี้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงขึ้นมา คาดหวังจะได้เห็นการริเริ่มเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าจะเป็นไปอย่างไร เชื่อว่าจะเป็นการนำร่องและเป็นตัวอย่างที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงจังหวัดอื่นในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย ซึ่งเราจะให้การสนับสนุนการทำงานนี้อย่างเต็มที่”