หนองคาย ชงตั้งฮับกระจายสินค้า หลังประมูลเขตเศรษฐกิจ 700 ไร่ ล่ม 3 รอบ

ฮับกระจายสินค้า

ผ่านไปแล้วสำหรับการประมูลเพื่อสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) จ.หนองคาย ที่เปิดขายเอกสารการลงทุนระหว่างวันที่ 23 พ.ค.-17 มิ.ย. 2565 และเปิดให้ยื่นซองในวันที่ 6 ก.ย. 2565

ปรากฏว่าไม่มีผู้มายื่นซอง ส่อแววล่มและไม่สอดรับกับการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และเร่งผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามที่รัฐบาลผลักดันมาตลอดหลายปี

โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ตั้งอยู่บนพื้นที่ ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย เนื้อที่ประมาณ 718-0-46 ไร่ ที่กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าเช่าในอัตราไร่ละ 2,100 บาท/ปี คิดเป็นค่าเช่าปีละ 1,508,042 บาท

มีการปรับปรุงค่าเช่าร้อยละ 9 ทุก 3 ปี และกำหนดค่าธรรมเนียมการประมูลเป็นเงิน 25,134,025 บาท มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 50 ปี คุณสมบัติของผู้เสนอการลงทุนต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท กรณีกิจการร่วมค้า (joint venture)

เป็นการร่วมของธุรกิจที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีผลงานหรือประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างน้อย 1 โครงการ

“มนนิภา โกวิทศิริกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากทางจังหวัดนำเสนอสิทธิประโยชน์การลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 มีผู้ซื้อแบบทั้งหมด 5 ราย

และได้กำหนดยื่นซองเสนอโครงการวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ไม่มีผู้ประกอบการรายใดมายื่นซองเลย โดยไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร หรืออย่างไร ซึ่งทางจังหวัดจะต้องประชุมหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดว่าอาจจะพลิกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ของจังหวัด หลังจากนั้นจะยกให้ด่านศุลกากรเข้ามาบริหารจัดการ ส่วนขอบเขตโครงการในพื้นที่อื่นอีก 12 ตำบลที่เป็นของเอกชนยังคงผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

แต่ประเด็นนี้ยังเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ และอาจชะลอไปตามวาระ เพราะต้องรอหัวหน้าส่วนราชการที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านพอดี

“จะเห็นว่าเอกชนมาลงทุนด้านโลจิสติกส์ในจังหวัดหนองคายบ้างแล้ว แต่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดคึกคักได้ ตอนนี้โครงการไหนสามารถขับเคลื่อนได้ก็ทำ แต่โครงการใหญ่เราต้องรอหัวหน้าส่วนราชการ

อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนปัจจุบันที่ต้องย้ายไปจันทบุรี ต้องรอผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่เข้ามาก่อน และทิศทางการปรับพื้นที่กว่า 718 ไร่ ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าเป็นโครงการใหญ่ นอกจากนี้ก็มีโครงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทาที่ต้องร่วมประชุมกันอีก”

ด้าน “วุฒิ เร่งประดุงทอง” นายด่านศุลกากรหนองคาย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหนองคาย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดิมทีคาดหวังว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 718 ไร่ จะมีผู้มายื่นซอง แต่เมื่อไม่มีใครยื่น อาจมองว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เวลาดำเนินการหลายปี

เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มทุ่งนา ฉะนั้นต้องแล้วแต่การตัดสินใจของคนหนองคายก่อนเป็นอันดับแรก ว่าสุดท้ายแล้วจะกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นอย่างไรและเป็นไปในทิศทางไหน แต่หากให้ด่านศุลกากรเข้าไปบริหารจัดการ ก็ต้องนำเสนอต่อผู้ใหญ่เป็นลำดับชั้นจนถึงคณะรัฐมนตรี เพราะทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาออกแบบหลายกระบวนการ

ตอนนี้ด่านศุลกากรหนองคายได้ถูกยกระดับเป็นสำนักงานศุลกากรหนองคายโดยอำนาจบริหาร เพื่อให้มีอัตรากำลังรองรับต่อปริมาณงาน ให้สามารถติดต่อการทำงานกับผู้ประกอบการในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดขอนแก่นได้ด้วย ฉะนั้นการพัฒนาจะเชื่อมโยงประกอบกัน

โดยความคิดเห็นส่วนตัวถ้าสามารถพัฒนา 700 กว่าไร่ให้เป็น “ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์” ได้ จะทำให้มีกิจกรรมด้านศุลกากรเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การบรรจุสินค้า เก็บภาษี เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนหนองคาย

และหากจะทำจริง ๆ ต้องนำเสนอผู้ใหญ่หลายฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย ขณะเดียวกันภูมิศาสตร์ตลอดจนปริมาณเนื้อที่ก็มีความเหมาะสม เช่นเดียวกับฝั่ง สปป.ลาว จะพัฒนาโครงการท่าเรือบก (dry port) ที่บ่อเต็น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เมื่อปี 2564 จังหวัดมุกดาหาร ตราด สระแก้ว และหนองคาย ได้ทำเรื่องขอขยายขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้พื้นที่ทำโครงการน่าสนใจมากขึ้น

โดยในส่วนของจังหวัดหนองคายได้เสนอขอเพิ่มพื้นที่ 2 ตำบล ใน อ.เมืองหนองคาย คือ ต.เมืองหมี ต.ปะโค พื้นที่ 22,026 ไร่ เพื่อขยายพื้นที่ให้ไปติดกับริมแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือ สปป.ลาว จะทำให้พื้นที่ อ.เมืองหนองคาย เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกือบเต็มทั้งอำเภอ

เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาประมูล เพื่อหวังจะได้ทำการค้าเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว และได้อานิสงส์จากรถไฟจีน-ลาว

ปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น โรงงานเอ็นเทคโพลิเมอร์ (ยางพารา) โรงงานนาคิเทค (พลาสติก) โรงสีข้าวสมบูรณ์พืชผลการเกษตร โรงงานพรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ (แป้งมัน)

และจะทำให้ขนาดพื้นที่รวมเพิ่มเป็น 318,068 ไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ใน 12 ตำบล ใน อ.เมืองหนองคาย คือ ต.ค่ายบกหวาน ต.ในเมือง ต.บ้านเดื่อ ต.พระธาตุบังพวน ต.โพธิ์ชัย ต.โพนสว่าง ต.มีชัย ต.เวียงคุก ต.สีกาย ต.หินโงม ต.หนองกอมเกาะ ต.หาดคำ 1 ตำบลใน อ.สระใคร คือ ต.สระใคร รวม 296,042 ไร่