ล้งจีนบุกซื้อยางเหนือจรดใต้ เจรจาสหกรณ์ตัดวงจรพ่อค้า

พ่อค้าจีนบุกไทย ตั้งล้งรับซื้อยางเหนือจรดใต้ ส่งทีมเจรจาตรง สหกรณ์ ตัดพ่อค้าคนกลาง ชี้ปี61-62 จีนต้องการใช้ยาง 5 ล้านตัน ชสยท.-คยปท. หนุนสุดตัว เผยสถาบันเกษตรกรใต้ลงขันกับนักลงทุนจีนตั้งบริษัทร่วมทุน

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางกระบี่ และที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ระบบการซื้อขายยางพาราภายในประเทศมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพ่อค้า นักลงทุนจีนซึ่งช่วงแรกเข้ามาติดต่อซื้อขายยางจากเกษตรกรโดยตรง เฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เริ่มเข้าไปเจรจาซื้อขายยางกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้มากขึ้น แม้ไม่ถึงกับตั้งโต๊ะหรือมีโกดังซื้อขายมากเหมือนการซื้อขายผลไม้ในภาคตะวัน ออกและภาคเหนือ แต่ดำเนินการในลักษณะเป็นล้งจีนคล้าย ๆ กัน

ล้งยางจีนบุกเหนือจดใต้

โดยพ่อค้าจีนเจรจาขอให้สถาบันเกษตรกรทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ขายยางให้โดยตรง จากนั้นจะรวบรวมส่งออกเอง อ้างว่าที่ผ่านมายางที่รับซื้อจากพ่อค้า ผู้ส่งออกไทยมักมีปัญหาเรื่องคุณภาพ และราคาซื้อขาย เบื้องต้นเน้นเฉพาะสหกรณ์ หรือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางขนาดใหญ่ก่อน กรณีดังกล่าวมองได้ 2 ด้าน ในทางบวกถือเป็นทางเลือกใหม่ เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่จะรับซื้อยางจากเกษตรกร แต่หากมองทางลบ หากชาวสวนยางขายผลผลิตให้พ่อค้าจีนไปนาน ๆ โดยไม่ได้ติดต่อกับพ่อค้าคนไทย เวลาถูกกดราคารับซื้อต้องไปขายยางให้พ่อค้าไทยจะลำบาก จึงต้องจับตามองเพราะยังเป็นดาบสองคม ที่สำคัญราคายางยังไม่ขยับขึ้น วันที่ 22 ม.ค. 2561 ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 อยู่ที่ 45-47 บาท/กก. ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ที่ 48 บาท/กก.

จับมือตั้งบริษัทร่วมทุน

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบขณะนี้พ่อค้าจีนส่งคนกระจายลงพื้นที่ทุกจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ฯลฯ ซึ่งตนมองว่าจีนจะได้ยางคุณภาพตามที่ต้องการ และทำให้สถาบันเกษตรกรยางพาราจะได้ใช้โอกาสนี้พัฒนาศักยภาพการผลิต

อย่างไรก็ตาม สถาบันเกษตรกรยางพารายังมีอุปสรรคสำคัญ คือ 1.ขาดงบประมาณ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2.ไม่มีโกดังเก็บยาง 3.ขาดโรงงานยางอัดก้อน ทางออกทางหนึ่งคือร่วมกันหารือถึงแนวทางจับมือกับนักลงทุนจีนจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนซื้อขายยางโดยตรง ซึ่งเครือข่ายสถาบันเกษตรกรกับนักลงทุนจีนได้ร่วมลงทุนบางส่วนแล้ว

ชสยท.หนุนจีนซื้อตรง

นาย ชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) ในฐานะประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดสตูล จำกัด กล่าวว่า ตนได้รับการประสานงานจากกลุ่มนักลงทุนจีนว่าจะเข้ามาลงทุนรับซื้อยางจาก สถาบันเกษตรกรเช่นเดียวกัน และมองว่าเป็นเรื่องดีที่ตัดคนกลางออกไป แต่ต้องคุยในรายละเอียด ข้อตกลงทั้งเรื่องปริมาณ คุณภาพ การส่งมอบ และราคา

สำหรับ ชสยท.มีเครือข่ายเป็นชุมนุมสหกรณ์ยางพาราอยู่ทั่วประเทศ และแต่ละจังหวัดมีเครือข่ายจำนวนมาก จึงมีปริมาณยางเพียงพอส่งมอบให้จีน แต่หากขายลอตใหญ่ 300-1,000 ตัน จะเสี่ยงสูง

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ รองประธานเครือข่ายยาง การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า ประเด็นล้งจีน หรือพ่อค้านักลงทุนจากจีนจะเข้ามาซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร เช่น กลุ่มยาง วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ยางพารา ทุกคนต่างเห็นด้วย เพราะการซื้อขายไม่ผ่านคนกลางจะได้ราคาส่วนต่างดีขึ้น มีการแข่งขัน และมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

ชี้จีนต้องการใช้ยาง 5 ล้านตัน

ขณะที่นายจรินทร์ ธรรมดี รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเหนือและอีสานมีการแข่งขันรับซื้อยางมากขึ้น บริษัทส่งออกยางขนาดใหญ่ตั้งจุดรับซื้อรวบรวมยางทุกจุดใกล้พื้นที่ชุมชน ยางพารา และซื้อทั้งหมดไม่กำหนดชั้น ขณะที่พ่อค้าจีนที่เข้ามารับซื้อก็ดำเนินการเองทั้งหมด เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ค่าภาษี และอื่น ๆ

“แนวทางนี้ผู้ซื้อจะ ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรถึงบ้าน และซื้อตามกลไกตลาด น่าจะดีกว่าซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้วยังถูกกดราคา”

แหล่งข่าวจากสถาบันเกษตรกรยางพาราภาคใต้ เปิดเผยว่า พ่อค้า นักลงทุนจีนที่เข้าเจรจาซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรยางทางภาคใต้ขณะนี้แต่ละทีม จะมี 3 คน ประกอบด้วย ผู้เจรจา พนักงานขับรถ และล่าม โดยระบุว่าจีนต้องการรับซื้อไม่จำกัดปริมาณ เนื่องจากปี 2561-2562 ต้องการใช้ยางเพิ่ม 5 แสนตัน จากเดิมที่ใช้ 4.5 ล้านตัน/ปี ขณะที่ไทยผลิตยางได้ปีละ 4.2 ล้านตัน

เตือนชาวสวนยางอย่าประมาท

ด้านนายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ จ.ยะลา ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของภาคใต้ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าพ่อค้าจีนที่มาติดต่อมาจากไหน และเป็นกลุ่มไหน จึงขอให้ศึกษากลยุทธ์พ่อค้าจีนไว้ เพราะที่ผ่านมาจีนซื้อพืชทุกชนิด การที่บุกมาภาคใต้น่าจะเป็นเพราะภาคอีสานหยุดกรีดยางแล้ว ที่น่าสังเกตคือขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางในจีน ต่างชะลอรับซื้อ ส่วนในมาเลเซีย ทุกโรงงานยังมียางเต็มสต๊อก เพราะช่วงตรุษจีนจะหยุดยาวกว่า 20 วัน ประเมินว่าอีก 3 เดือน ก็ยังมีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิต

สำหรับทิศทางยางในปี 2561 น่าจะทรงตัว ถ้าสะวิงก็ไม่มาก เพราะปี 2560 ผลผลิตยางน้อยมาก เหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะชาวสวนยางกรีดได้ไม่ถึง 100 วัน จากปกติกว่า 200 วัน/ปี เฉพาะในกลุ่มของตนจากที่เคยซื้อยาง 1 แสนตัน/เดือน ลดเหลือ 2 หมื่นตัน/เดือน แต่ราคายังไม่ขยับเท่าที่ควร ครึ่งปี 2561 คาดว่าปริมาณยางจะลดลงเหมือนปีก่อน

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้