SUN ทุ่ม 100 ล้าน นำ “ซังข้าวโพด” ผลิตไฟฟ้ามุ่งสู่ ESG

โรงงานซันสวีท

SUN ทุ่ม 100 ล้าน นำ “ซังข้าวโพดหวาน” มาผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 1 เมกะวัตต์ พร้อมรุกทำ “โซลาร์รูฟท็อป” อาคาร 3 หลัง บนพื้นที่กว่า 5 พันตารางเมตร พลิกโฉมสู่โรงงานพลังงานสะอาด ตอกย้ำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมเดินหน้าธุรกิจสู่ ESG

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ในภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทตระหนักถึงการลดของเสียจากกระบวนการผลิต (zero waste)

และให้ความสำคัญธุรกิจพลังงานสะอาด (green energy) เพื่อสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี โดยในช่วงปี 2561-2565 บริษัทได้ลงทุนราว 100 ล้านบาท เพื่อพลิกโฉมให้เป็นโรงงานพลังงานสะอาด มีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ

จนถึงปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้จากพืชเกษตร โดยเฉพาะซังข้าวโพดหวานหลังการเก็บเกี่ยว สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการลงทุนการผลิตก๊าซชีวภาพ (biogas plants) บนพื้นที่ 5 ไร่ ภายในโรงงาน SUN ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงบฯลงทุนราว 70 ล้านบาท ขณะนี้ได้เดินเครื่องการผลิตแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยกระบวนการการนำซังข้าวโพดหวานประมาณ 60-100 ตัน/วัน มาผ่านกระบวนการหมัก

เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย สู่การแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะนำไฟฟ้าที่ได้ไปใช้ในการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 50% หรือเฉลี่ยลดต้นทุนได้ปีละประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งยังเป็นแนวทางในการลดของเสียในโรงงานเพื่อนำไปสู่ zero waste และ net zero เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน

นายองอาจกล่าวต่อไปว่า อีกเป้าหมายสำคัญของการทำให้โรงงาน SUN เป็นโรงงานแห่งพลังงานสะอาด คือ การพลิกโฉมทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานทั้ง 3 เฟส ด้วยงบฯลงทุนกว่า 30 ล้านบาท รวมพื้นที่ทั้งหมด 5,092 ตารางเมตร

โดยที่ผ่านมา SUN ได้เริ่มโครงการ solar rooftop งบฯลงทุน 17.5 ล้านบาท ในเฟส 1 เมื่อปี 2561 กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) บนหลังคาอาคารโรงงานสินค้าแช่แข็ง (frozen) และในปี 2563 ได้ติดตั้ง solar rooftop เฟส 2 กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 265 kWp บนหลังคาอาคารสินค้าบรรจุกระป๋อง เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองตามการรับประกันผลผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ปี รวมพื้นที่เฟส 1 และเฟส 2 ประมาณ 4,200 ตารางเมตร

และโครงการล่าสุด ได้ลงทุนติดตั้ง solar rooftop ในเฟส 3 บนหลังคาอาคาร minifactory พื้นที่ 892 ตารางเมตร กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 186 kWp ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2565

ซึ่งอาคารหลังนี้ใช้ไฟตอนกลางวันในการผลิตสินค้าพร้อมรับประทาน (RTE) บริษัทมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้ ซึ่ง solar rooftop ช่วยประหยัดค่าไฟได้ในระยะยาว สำหรับการติดตั้ง solar rooftop ทั้ง 3 เฟส สามารถลดต้นทุนต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 8%

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเดินหน้าต่อในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกำลังวางแผนศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์แนวทางการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทได้ยึดแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (environmental) สังคม (social) และบรรษัทภิบาล (governance) ซึ่ง ESG เป็นประเด็นที่ SUN ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง