ลำดับมหากาพย์ โรงแรมดาราเทวี ขายไม่ออก ถูกยึดเงินประกัน 110 ล้าน

โรงแรมดาราเทวี

ยังหาทางไปไม่ได้ โรงแรมดาราเทวีหลังปิดกิจการขายทอดตลาด ปรากฏว่า บริษัทที่ขอซื้อยังไม่มีเงิน 2,000 ล้าน มาวางให้ และพยายามขอยื้อเวลาออกไป แต่ไม่สำเร็จ ถูกริบเงินประกัน 110 ล้าน

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 จากกรณีศาลแพ่งเชียงใหม่มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือจากผู้ชนะประมูลโรงแรมดาราเทวี จากวันที่ 30 กันยายน 2565 ด้วยเห็นว่าขอเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง นับจากการทำสัญญาซื้อขายผ่านมาแล้วกว่า 9 เดือนนั้น

ล่าสุดทางเจ้าของโรงแรมและบริษัทผู้ชนะการประมูล ยังไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่คนใกล้ชิดเผยว่า ยังไม่มีผู้แจ้งความประสงค์ขอซื้อรายใหม่

ประชาชาติธุรกิจ รวบรวมข้อมูลและลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับโรงแรมชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

ปี 2545 โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ เปิดตัวเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดเด่นที่รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ  บนเนื้อที่ประมาณ 148.32 ไร่ โดยมีจำนวนห้องพัก 123 ห้อง ใช้เงินลงทุนก่อสร้างราว 3,000 ล้านบาท

โรงแรมดาราเทวี
FB Dhara Dhevi Chiang Mai

ปลายปี 2558 บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ใช้เงินกว่า 2,520 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นในกลุ่มดาราเทวี เชียงใหม่ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งมีทั้งคนไทยและกลุ่มธุรกิจจีน

ธุรกิจเริ่มปรากฏปัญหาไปต่อไม่ได้ ตั้งแต่กลางปี 2563 หลังเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิดกระทบภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโดยรวม และการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป

โรงแรมประกาศปิดกิจการชั่วคราวเดือนพฤษภาคม 2563 จากนั้นยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เดือนมิถุนายน 2563

30 กันยายน 2563 เพจเฟซบุ๊กของโรงแรม Dhara Dhevi Chiang Mai ลงโพสต์สุดท้ายเป็นภาพที่มีข้อความภาษาอังกฤษ แจ้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าโรงแรมต้องปิดบริการชั่วคราว วันที่ 1 ตุลาคมถึงวันที่ 30 พ.ย. 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด

โพสต์สุดท้าย วันที่ 30 ก.ย. 2020

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของโรงแรมที่ขอฟื้นฟูกิจการ จากนั้นดาราเทวีเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย โดยมีการยึดทรัพย์สินต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ดิน และโรงแรมดาราเทวี ออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้

กรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด ด้วยราคาเริ่มต้น 2,116 ล้านบาท นัดประมูลนัดแรกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ เลขที่ 1/1 ถนน สนามบินเก่า ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 มีการเปิดประมูลขายโรงแรมด้วยราคาเริ่มต้น 2,116 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียน และ วางเงินประกัน 110 ล้านบาท เข้าร่วมเพียงรายเดียว คือ บริษัทไฮไลฟ์ แอสเสท จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่รับราคา 2,116 ล้านบาท ทำให้ต้องกำหนดวันขายทอดตลาด ครั้งที่ 2

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 กำหนดวันขายทอดตลาด ครั้งที่ 2 มีการปรับลดราคาลง ร้อยละ 10 ตามระเบียบบังคับ ที่ราคา 1,904.62 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไฮไลฟ์ แอสเซท จำกัด และบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีส เทอมอลพาวเวอร์ จำกัด หรือ IFEC

บริษัท IFEC เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 2,012,620,000 บาท

โรงแรมดาราเทวี

เดือนมกราคม 2565 บริษัท IFEC ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินซื้อทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุญาต พร้อมให้ยึดเงินประกัน 110 ล้านบาท

ด้านอธิบดีอัยการภาค 5 มีคำสั่งให้ส่งตัวนายจ้างดำเนินคดี เนื่องจากไม่ยอมจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง กรณีนายจ้างหยุดกิจการ แต่ต่อมาฝ่ายนายจ้างขอเจรจาตามแนวทางการประนีประนอมยอมความ ตามแนวทางของสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการภาค 5

นายจ้างผู้ประกอบการนำเงินที่ลูกจ้างเรียกร้อง ไม่ว่าเป็นเงินเดือนที่ค้างชำระ เบี้ยปรับ และค่าชดเชยต่าง ๆ ตามกฎหมาย มาวางต่อหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อชำระเงินที่ค้างให้แก่ลูกจ้างผู้เรียกร้อง 188 คน รวมเป็นเงิน 16 ล้านบาท

มอบเงินชดเชยพนักงาน สิงหาคม 2565

ผลสำเร็จจากการประนีประนอม ส่งผลดีต่อลูกจ้างที่ได้รับการบรรเทาผลร้ายในการเลิกจ้างอย่างทั่วถึง และ ยังส่งผลดีต่อนายจ้าง ที่อาจไม่ต้องถูกดำเนินคดี เป็นการลดความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้น

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 พนักงานลูกจ้างของโรงแรมดาราเทวี เดินทางเข้าพบนายเชษฐวิทย์ ตันติพันธุ์วดี อธิบดีอัยการภาค 5 ที่สำนักงานอัยการภาค 5 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอบคุณที่อำนวยความยุติธรรม จนทำให้กลุ่มลูกจ้าง ได้รับความเป็นธรรม

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอขยายเวลาวางเงิน และให้ผู้ร้องวางเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดเดิมคือ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยระบุว่า

“การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีกถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2565 โดยอ้างเหตุว่าการติดการประเมินราคาหลักประกันใหม่ หรือบริษัท โจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังเร่งระดมทุนนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องคาดหมายได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่แรก ทั้งข้ออ้างดังกล่าวยังเลื่อนลอย ไม่แน่ว่าจะหาเงินได้ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ กรณีจึงยังไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาวงเงินให้กับผู้ร้องอีก”

วันที่ 30 กันยายน 2565 บริษัท IFEC ไม่สามารถวางเงินซื้อทรัพย์ได้ มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเงินประกันจำนวน 110 ล้านบาท


++++