“ดุสิตา” สกินแคร์อุบลชงปลูกงา หนุนรับซื้อ 70บาท/กิโลกรัม

‘ดุสิตา’สกินแคร์

“ดุสิตา แคร์” สกินแคร์จากสารสกัดงา เมืองอุบลราชธานี เตรียมโกอินเตอร์ “เวียดนาม-กัมพูชา-จีน” ปีหน้า พร้อมผลักดัน “งา” ขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี หนุนเกษตรกรในจังหวัดปลูกงา สายพันธุ์อุบลราชธานี พร้อมรับซื้อทั้งหมด ราคา 70 บาทต่อ กก.

นางชูศรี กตัญญุตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อลัน อินทรา กรุ๊ป จำกัด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ผู้ผลิตสกินแคร์ ภายใต้แบรนด์ “ดุสิตา แคร์” (Dusita Care) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมแผนส่งออกผลิตภัณฑ์สกินแคร์จากสารสกัดงาโดยวิธีสกัดเย็น 5 ตัว

ได้แก่ 1.เซรั่มน้ำมันงา 2.ครีมบำรุงผิว 3.ครีมกันแดดสูตรผสมรองพื้น 4.โฟมล้างหน้า 5.เซรั่มบำรุงเส้นผม ซึ่งเป็นผลิตจากงาสายพันธุ์อุบลราชธานีแท้ ๆ ไปจำหน่ายยังตลาดประเทศเวียดนาม กัมพูชา และจีน

บริษัทได้ไปขออนุญาตจดทะเบียนทำธุรกิจที่เวียดนามเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการหาตัวแทนจัดจำหน่าย ส่วนในจีนบริษัทได้ไปจดทะเบียนการค้าไว้แล้ว ยังเหลือต้องทำเอกสารเพิ่มเติมตามกฎหมายใหม่ และในเดือนธันวาคม 2565 ได้เริ่มยิงโฆษณาขายที่กัมพูชา ปี 2566 จะมีโครงการยิงโฆษณาขายที่เวียดนาม โดยกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป

“ปีหน้าถือว่าเข้าสู่ปีที่ 4 ในการผลิตสินค้าสกินแคร์ เราเป็นธุรกิจ SMEs ยังไม่มีโรงงานของตัวเอง ใช้การว่าจ้างผลิต (OEM) โดยโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP และสินค้าทุกตัวผ่านการพิจารณาอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อย

เราได้ส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลการทดสอบพบว่า ไม่มีสารปรอท ไม่มีสเตียรอยด์ ไม่มีสารที่ทำให้ระคายเคืองต่าง ๆ ปนเปื้อน และเราพร้อมส่งสินค้าโกอินเตอร์ โดยสกินแคร์ของดุสิตามีจุดเด่น ใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า OMEGALIGHT เป็นตัวนำพาให้ครีมบำรุงซึมลงสู่ผิวชั้นลึกได้ ไม่มัน ไม่เหนียวเหนอะหนะ

โดยเฉพาะผิวคนที่ขาดการบำรุงจะซึมเร็วมาก คนที่ผิวดีจะซึมช้า ตัวนี้เป็นจุดเด่นของเรา สำหรับยอดขายช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์อย่างเดียว ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง” นางชูศรีกล่าว

ดุสิตา สกินแคร์

นางชูศรีกล่าวต่อไปว่า การนำงามาสกัดเป็นสกินแคร์หลากหลายชนิด เพราะงาเป็นพืชไร่น้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีแร่ธาตุ วิตามินต่าง ๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และโชคดีที่จังหวัดอุบลฯ มีสายพันธุ์งาเป็นของตัวเอง เช่น สายพันธุ์อุบลราชธานี 1 อุบลราชธานี 2 อุบลราชธานี 3 มีทั้งงาดำ งาขาว และงาแดง

ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ได้ผลักดันให้งาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี 5 ปี เพื่อสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรปลูกงาหลังการเก็บเกี่ยวพืชหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลในเรื่องเมล็ดพันธุ์งาดำอุบลราชธานี 3 โดยบริษัทพร้อมรับซื้อในราคา 70 บาทต่อกิโลกรัม

ที่ผ่านมาเกษตรกรในจังหวัดอุบลฯยังปลูกงากันน้อย หาคนปลูกยาก เพราะชาวบ้านเองไม่มั่นใจว่า ปลูกแล้วจะมีคนมารับซื้อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการรับซื้อ ทั้งนี้ งาถือเป็นพืชล้มลุก ทนโรค ทนแล้งมาก 5-7 วันไม่รดน้ำยังไม่ตาย ปลูกได้ทุกสภาพดิน แต่จะชะลอการเติบโตในหน้าหนาว และไม่ชอบอยู่ในที่แฉะ น้ำท่วม

ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 85-90 วันเท่านั้น เรียกว่าปลูกง่ายให้ผลผลิตมาก ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทจะรับซื้องาเฉพาะที่ปลูกในจังหวัดอุบลฯ เพื่อช่วยส่งเสริมเกษตรกรภายในจังหวัด โดยรับซื้อราคาประมาณ 70 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรยังปลูกงากันไม่มาก ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ปีที่ผ่านมาได้มีข้อตกลงให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานีปลูกงาให้ โดยบริษัทรับซื้อผลผลิตที่ปลูกได้ทั้งหมด


“ปัจจุบันพื้นที่ปลูกงาในจังหวัดอุบลฯอยู่ในวงจำกัด และจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตงาบางปีเกิดความเสียหาย ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้ผลผลิตงาไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เท่าที่ทราบมีโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีความต้องการงาอีกมาก บางครั้งต้องนำเข้างาจากประเทศอินเดียและ จีน เพราะฉะนั้น ถ้าเกษตรกรไทยปลูกได้จำนวนมากมีตลาดรองรับอยู่แล้ว” นางชูศรีกล่าว