ทุเรียนไทยหมดยุคผูกขาดตลาดจีน 5 ประเทศแข่งเดือด จับตาต้นปี’66 ฟิลิปปินส์จ่อลงนามพิธีสารส่งเข้าจีนอีกราย ตามด้วยมาเลเซีย-ลาว-กัมพูชาพร้อมปั๊มผลผลิตเพิ่มมหาศาล ทุเรียนเวียดนามทะลัก 7 แสนตัน ทั้งต้นทุนถูกกว่าครึ่ง หวั่นราคาตลาดดิ่ง เกษตรกรไทยแห่ปลูกทะลุ 1 ล้านไร่
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตลาดส่งออกทุเรียน (สด) ของไทยไปจีนกำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก หลังจากที่ไทยได้รับสิทธิเป็นผู้ส่งออกทุเรียนผลสดเพียงผู้เดียวในช่วงที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเวียดนามก็ได้รับพิธีสารส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนเป็นคู่แข่งรายแรก เมื่อ 21 ก.ค. 2565 ทำให้เกิดกระแสทุเรียนเวียดนามฟีเวอร์ในจีน และปี 2566 จะมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ ทั้งฟิลิปปินส์
ตามมาด้วยมาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา ซึ่งแต่ละประเทศกำลังขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างมหาศาล กลายเป็นความท้าทายของไทย ซึ่งได้เพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นกว่า 1,013,675 ไร่ ผลผลิต 1,492,819 ตันในปี 2566 และกระจายไปในหลายจังหวัด
ชูคุณภาพตัวแปรสู้คู่แข่ง
ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 2565 ไทยมีพื้นที่ปลูกทะลุ 1 ล้านไร่ และยังปลูกเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ขณะที่จีนอนุญาตนำเข้าผลสดจากเวียดนามได้ และกำลังจะอนุญาตให้ฟิลิปปินส์ในต้นปี 2566 จากนั้น สปป.ลาวจะได้สิทธิพิเศษทางการค้าเช่นกัน และตอนนี้นักธุรกิจจีนไปลงทุนปลูกในพื้นที่สัมปทาน สปป.ลาวกว่า 30,000 ไร่ ส่วนมาเลเซียเดิมส่งทุเรียนแช่แข็งตอนนี้อยู่ระหว่างรอพิธีสารนำเข้าผลสดจากจีนเช่นกัน
“คุณภาพเป็นตัวแปรสำคัญในการ แข่งขันต้องบริหารจัดการกับคุณภาพทุเรียนเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน จำเป็นต้องมี 4 องค์ประกอบ คือ องค์กรภาคเกษตรกร เพื่อประสานหน่วยงานภาครัฐ ให้การสนับสนุนด้านนโยบายและมีสถาบันการศึกษาช่วยงานวิจัย”
“ระบบการค้าต่อไปจะสปีดเร็วขึ้น ตลาดจีนนิยมการค้าแบบออนไลน์ อีก 2-3 ปีจะมีวอลเลตหยวนดิจิทัล เมื่อระบบโลจิสติกส์รถไฟจีน-ลาว เชื่อมต่อจีนด้านตะวันตกมณฑลยูนนานที่เมืองคุนหมิง ฉงชิ่ง หลังจีนเปิดประเทศต้นปี 2566 ในช่วงตรุษจีน คาดว่านักท่องเที่ยวจีน 7-8% จากทั้งหมด 20-30 ล้านคนจะเข้ามาทางนี้ ถ้าช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. มีการจัดอีเวนต์ผลไม้ อัพเกรดทุเรียนไทยให้มีแบรนดิ้ง สตอรี่ พร้อมระบบคิวอาร์โค้ดตรวจสอบย้อนกลับสร้างความเชื่อมั่น ให้นักท่องเที่ยวจีนออร์เดอร์ส่งไปรอรับล่วงหน้าที่ Free Trade Zone คุนหมิง” ดร.วรชาติกล่าว
เวียดนามต้นทุนต่ำกว่าไทย 50%
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ปี 2564 จีนนำเข้าทุเรียนไทย 821,556 ตัน และจากเวียดนาม 48 ตัน มูลค่า 287,700 เหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2565 ทุเรียนสดเวียดนามได้รับความนิยมจนจำหน่ายได้ในราคาสูงใกล้เคียงไทย และข้อมูลสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ระบุว่าปี 2566 ฟิลิปปินส์จะสามารถเริ่มส่งออกทุเรียน โดยแหล่งปลูกทุเรียนฟิลิปปินส์ในพื้นที่ดาเวา มีถึง 103,637 ไร่ มีผลผลิต 78,816 ตัน
ด้านนางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูต ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวถึงสถานการณ์แข่งขันทุเรียนไทยในตลาดจีนว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนไทยส่งออกตลาดจีน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จากปี 2562 ส่งออกราว 600,000 ตัน ถึงปี 2565 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 800,000 ตัน และเชื่อว่าปี 2566 ปริมาณส่งออกทุเรียนไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เข้ามาเป็นคู่แข่งเพิ่ม
“หากสวนทุเรียนเวียดนามได้ใบรับรอง GAP 51 สวน คาดว่าจะผลิตได้ 600,000-700,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณไม่น้อย และเวียดนามมีข้อได้เปรียบอยู่ใกล้จีนมากกว่า และต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย 50%”
5 แนวทางเจาะตลาดจีน
นางสาวปทุมวดีกล่าวว่า การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค โดยปรับเปลี่ยน 5 ประการ คือ 1) วางแผนการผลิตให้ผลผลิตกระจายไม่ตรงฤดูกาลทุเรียน โดยทุเรียนไทย-เวียดนาม ช่วงพีก คือเมษายน-กรกฎาคม ดังนั้นผลิตช่วงต้นและท้ายฤดู จะได้รับราคาสูงขึ้นและลดความแออัดจากด่านทางบก
2) วางโพซิชั่นการผลิตทุเรียนใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มค้าส่ง หรือกลุ่มแมสโปรดักต์ขายตลาด และกลุ่มพรีเมี่ยม ส่งขายในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า มีเครือข่ายขายแฟรนไชส์ ตลาดออนไลน์ มีการขายไลฟ์สด ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ live stream ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเเมืองใหญ่ ๆ เพราะเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง บริการที่สะดวก รวดเร็ว ส่งถึงบ้าน
3) สร้างแบรนด์เพื่อสร้างความแตกต่าง ติดสติ๊กเกอร์ QR code ตรวจสอบย้อนกลับ 4) สร้างโปรดักต์ใหม่ ๆ จากทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช้ทำอาหาร 5) การใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนเป็นทางเลือกแต่ค่าขนส่งอาจจะสูงกว่า เนื่องจากการขนส่งทางรถยนต์ควบคุมเวลาไม่ได้ทำให้รถติดนาน 7-10 วัน และทำคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย โควิด-19 การแพ็กเกจจิ้ง บรรจุภัณฑ์ที่ขนส่งสะดวก ปลอดภัย
ไทยไม่มีกฎหมายคุมทุเรียนอ่อน
นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมทุเรียนไทย ทำให้เกษตรกรให้ความสนใจขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ต่อปี โดยปี 2565 ภาคตะวันออกมีพื้นที่ปลูก 871,626 ไร่ ซึ่งจะขยายตัวปีละประมาณ 200,000 ไร่ และพื้นที่ปลูกประเทศเพื่อนบ้านก็ขยายตัวมากเช่นกัน
ในสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงเช่นนี้ ไทยจะต้องเร่งทำ คือ 1) การยกระดับมาตรฐานเพื่อแยกกลุ่มผู้บริโภค เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 32% ควรยกระดับมาตรฐานเป็น 35% และกลุ่มผู้บริโภคพรีเมี่ยมต้องมากกว่า 35%
2) การสร้างเครือข่ายชาวสวนกับผู้ประกอบการ ให้เดินไปด้วยกันซึ่งต่อไปการทำ GAP ควรทำเป็นกลุ่ม และผู้ประกอบการเมื่อเปิดตลาดจีนควรประกันราคาให้ตลอดฤดูกาล เพื่อไม่ให้เร่งตัดทุเรียนอ่อน 3) จัดตั้งเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย (คพท.) ภาคประชาชนอาสาสมัครช่วยตรวจสอบคุณภาพ เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมทุเรียนอ่อน
4) ระบบโลจิสติกส์ ต้องพัฒนาให้สะดวกและประหยัดต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ รถไฟลาว-จีน ต้องให้มีตู้เพียงพอ และย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นจาก 4-5 วัน เหลือแค่ 2 วัน ด่านโมฮานมีสำนักงานศุลกากร (GACC) อนาคตเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ จีน ลาว ไทย มาอยู่แห่งเดียวกันจะสะดวก และประหยัดต้นทุน และเส้นทางบ่อเต็น-โมฮานควรพัฒนาให้ขนส่งสะดวกขึ้นจากสภาพปัจจุบันเป็นถนนลูกรัง 5) การแปรรูปต้องมีโรงงานรองรับ และ 6) การจัดตั้งกองทุนทุเรียน หรือกองทุนผลไม้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร