ส่งออกทุเรียนล้านตันไม่ถึงฝัน “มนัญญา” สั่งตั้งหน่วย ฉก.ปราบสวมสิทธิ

ทุเรียน

หวั่นไทยเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนไม่ถึงฝัน 1 ล้านตัน “มนัญญา” สั่งกรมวิชาการเกษตรตั้งหน่วยเฉพาะกิจ ปราบสวมสิทธิขั้นเด็ดขาด ชู “Zero สวมสิทธิ” ยึดทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ GACC ไฟเขียว ดีเดย์ 26 ธ.ค. 65 ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ 3 ทูตเกษตรห่วงคู่แข่งใหม่ตีตลาด

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิใบอนุญาต GAP แอบอ้างเป็นทุเรียนไทยส่งออกโดยไม่ได้มาตรฐาน จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรตั้งหน่วยเฉพาะกิจ โดยมีที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อทำงานบูรณาการร่วมกับคณะทำงานร่วมรัฐและเอกชนที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ มีหน้าที่และอำนาจ สั่งพักใช้ เพิกถอน ใบรับรอง หรือระงับ ยกเลิกหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียน เมื่อตรวจพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนสวมสิทธิขั้นเด็ดขาด ตามนโยบาย “Zero สวมสิทธิ” ช่วยรักษามาตรฐานทุเรียนไทยทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)

มนัญญา ไทยเศรษฐ์
มนัญญา ไทยเศรษฐ์

โดยการส่งออกหลังจากนี้ ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน เริ่มจากผลผลิตต้องผลิตจากสวนมาตรฐาน GAP ที่กรมวิชาการเกษตรเปลี่ยนใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ ขยายผลครบ 100% ทั่วประเทศ รวมไปถึงการบริหารการส่งออกทุเรียนตลอด Supply Chain ตามมาตรการ 5 เรื่องคือ 1.กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน และต่ออายุสวน GAP ในรูปแบบรหัสใหม่ และส่งข้อมูลทะเบียนสวนดังกล่าวให้จีน

               

โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เตรียมประกาศ “หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (ล้ง)” ภายในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2566 เพื่อเป็นมาตรฐานบังคับให้ล้งต้องรับซื้อทุเรียนให้ได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551

2.เพิ่มขีดความสามารถ พร้อมยกระดับมาตรฐานโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อส่งออก และให้ตรวจติดตามแหล่งที่มาได้ 3.การตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชทุเรียนสดต้องเป็นไปตามข้อตกลงพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทย-จีน 4.การแลกเปลี่ยนข้อมูลรับรองสุขอนามัยพืช ระหว่างกระทรวงเกษตรของไทยและกระทรวงศุลกากรเกษตรของจีน (GACC) เช่น ทะเบียนโรงคัดบรรจุ (DOA) ทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ ซึ่ง GACC ได้กำหนดใช้รหัสใหม่ตั้งแต่ 26 ธ.ค. 2565 และพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ 5.ทูตเกษตรไทยในจีน 3 หน่วยงาน ติดตามสถานการณ์นำเข้าและการตรวจสอบ สร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวก

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีนตั้งแต่ 1 ก.พ.-15 ธ.ค. 65 จำนวน 47,562 ชิปเมนต์ ปริมาณ 815,276.71 ตัน มูลค่า 86,732.23 ล้านบาท ซึ่งตลอดทั้งปีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ต้องผ่านมาตรฐาน GAP การตัดทุเรียนคุณภาพ การรวบรวมและคัดบรรจุมีคุณภาพได้มาตรฐาน และตรวจสอบทุเรียนประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิทุเรียนไทยต้องเป็น “Zero สวมสิทธิ” สามารถติดตามและทวนสอบมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีน

นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่งกล่าวว่า ความท้าทายการส่งออกทุเรียนปีหน้า จะมีคู่แข่งรายใหม่ไม่ใช่แค่เวียดนาม ยังมีฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว หรือแม้เเต่จีนเองก็กำลังปลูกจำนวนมากที่มณฑลไห่หนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ไทยต้องเร่งอัพเกรดทุเรียนคุณภาพส่งเสริมให้ทุเรียนหมอนทองให้กลายเป็นพรีเมี่ยมมาตรฐาน มีเอกลักษณ์เฉพาะ

นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุลฝ่ายเกษตร ณ นครกว่างโจวกล่าวว่า ปี2564 จีนนำเข้าผลไม้ไทยมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 40% แม้ว่าผู้บริโภคชาวจีนจะชอบทุเรียนไทยมากที่สุด แต่ขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการนำเข้าจากเวียดนาม เพราะจะเห็นว่าต้นทุนการนำเข้าจีนของเวียดนามต่ำกว่าไทย ทั้งมิติค่าแรง ค่าปัจจัยการผลิต ค่าขนส่ง

รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การเเข่งขันของไทยและเวียดนามในขณะนี้สูง อีกทั้งข้อได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ระหว่างเวียดนามไปด่านกวางโจว เป็นด่านแรกที่กระจายสินค้าไปมณฑลอื่น และมีระยะเวลาขนส่งได้เปรียบเพียง 4 วัน ส่วนไทยใช้เวลา 7-8 วัน ดังนั้น ควรเร่งส่งเสริมการส่งออกทางรถไฟเพื่อแก้ปัญหา

นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุลฝ่ายเกษตร ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า การใช้มาตรการ Zero COVID ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ การซื้อทุเรียนลดลง ขณะเดียวกัน การแข่งขันก็สูงขึ้น หลังจากทุเรียนเวียดนามและมาเลเซียได้เข้าไปทำตลาดในจีน ส่งผลกระทบต่อการทำตลาดทุเรียนของไทย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ซึ่งคนจีนหันไปเลือกซื้อทุเรียนเวียดนามที่ติดป้ายทุเรียนไทย ผลและรูปลักษณ์คล้ายกันมาก หากผู้บริโภคไม่ดูให้ดี รสชาติ สีเนื้อของทุเรียนแทบไม่มีความแตกต่าง ปัญหานี้ส่งผลให้ราคาทุเรียนของไทยตกต่ำลง ซึ่งฝ่ายเกษตรฯเองต้องเร่งรัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลทุเรียนไทยให้ชาวจีนเห็นถึงจุดแข็ง ความแตกต่าง และคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์

นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน เปิดเผยว่า มองว่าปัจจุบันเอกชนยังประสบปัญหาหลัก คือวิธีการตรวจสอบหน้าด่าน ส่งผลให้การขนส่งล่าช้า ต้นทุนยิ่งสูงขึ้น จึงอยากให้รัฐช่วยเจรจาทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลดภาษี ตลอดจนค่าขนส่งเพื่อสร้างแต้มต่อต่าง ๆ ให้มากขึ้น