
มทร.อีสาน ร่วมกับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย บันทึกข้อตกลง (MOU) ยกระดับมาตรฐานระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะนำร่องพื้นที่เมืองโคราช
วันนี้ 22 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำทีม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนามาตรฐานระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่” กับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีพีเอส ยูทิลิตี้ จำกัด และ บริษัท เล็กสุวงษ์ ขนส่ง จำกัด
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- “เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด
- สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี
รศ.ดร.โฆษิต กล่าวว่า บันทึกข้อตกลง (MOU) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันวิจัย พัฒนา บริการวิชาการ และพัฒนาบุคลากรคุณภาพสูง ขับเคลื่อนนวัตกรรมการพัฒนาเมือง ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) อาทิ Logistics cluster และ Digital cluster ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา และ มทร.อีสาน ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบระบบนิเวศเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ โดยมีกรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะเมืองโคราช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ปีงบประมาณ 2565
ตลอดจนการต่อยอดรูปแบบความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ ของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ เพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาเมืองให้กับเมืองโคราช และการเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระดับพื้นที่เมืองศูนย์กลางกระจายความเจริญ และองค์ประกอบสำคัญของความเป็นเมืองอัจฉริยะ ดังหมุดหมายที่ 8 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
ตลอดจนพัฒนาต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการพาณิชย์ได้ ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและภาคีเครือข่ายร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมมือ 4 ประเด็นหลัก กล่าวคือ
- ส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในการให้บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ ผู้ประกอบการเดินรถขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น ได้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการประกอบการขนส่งในเทคโนโลยีและราคาที่เหมาะสม เพื่อยกระดับบริการสาธารณะให้กับการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
- ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์การรับรองมาตรฐานและการให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคขนส่ง ภาคธุรกิจบริการและภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
- ร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และการเดินทางอัจฉริยะระดับพื้นที่เมืองสู่การพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (Reskill/Upskill) และจัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะ เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช ทวี มีความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกภาคส่วนและทุกระบบให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบรางและการเดินทางทุกรูปแบบ
สิ่งสำคัญสำหรับการ MOU ครั้งนี้ คือการเห็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งสถาบันอุดมศึกษา (มทร.อีสาน) ภาครัฐ และกลุ่มเอกชนธุรกิจของประเทศไทย ร่วมใจกันพยายามขับเคลื่อนและยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เราคาดหวังว่าหลังจากวันนี้อีก 3-6 เดือน จะเป็นย่างก้าวสำคัญของการพิสูจน์แสดงให้เห็นว่าคนไทย เราทำได้
นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีพีเอส ยูทิลิตี้ จำกัด ได้กล่าวว่า เมืองโคราชเป็นเมืองแห่งความหวัง สู่การเป็นต้นแบบการพัฒนามาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะ การพัฒนาระบบการเดินทางและการขนส่งของเมือง จำเป็นต้องมีรูปแบบทางเลือกการเดินทางที่หลากหลายให้กับชาวเมือง และยกระดับระบบการเดินทางของเมืองให้มีศักยภาพดั่งเมืองชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก
นายเถลิงศักดิ์ เล็กสุวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เล็กสุวงษ์ ขนส่ง จำกัด ได้กล่าวในที่ประชุมว่า สถานการณ์การเดินทางของเมืองโคราชที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายของการประคับประคอง ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะมีความถดถอยในหลายเรื่อง
ตลอดจนความอยู่รอดของผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพียงแค่สายการเดินรถที่ตนเองดูแล แต่สายการเดินทางอื่น ๆ ของเมืองโคราช หรือเมืองอื่น ๆ ก็มีความต้องการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสร้างทางเลือกและรูปแบบการแก้ไขสู่การพัฒนาและยกระดับกิจการให้บริการ ซึ่งกิจการเดินรถขนส่งมวลชนเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งสำหรับการพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน วันนี้นับเป็นวันที่ดี ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้น