ทุเรียนฤดูใหม่ไทยชนเวียดนาม ส่งออกติดด่านจีน-ค่าขนส่งพุ่ง

ทุเรียน

ส่งออกผลไม้เดือด ทุเรียนเวียดนามออกชนทุเรียนตะวันออก หวั่นระบบขนส่งทางบกมีปัญหารถติดที่ด่านโหย่วอี้กวน-บ่อเต็น คาดปัญหาหนักขึ้นช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ทุเรียนออกมาก แนะเตรียมแผนรับมือ พึ่งขนส่งทางเรือรองรับ “ราคาถูก-ปัญหาน้อย” ส่วนการขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ค่าขนส่งแพง

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าแม้ว่าปริมาณผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกจะใกล้เคียงกับปีก่อน และนโยบายซีโร่โควิดของทางการจีนน่าจะมีปัญหาน้อยลง แต่ปีนี้ทุเรียนเวียดนามออกเร็วตรงกับทุเรียนไทย จะทำให้มีปริมาณทุเรียนในตลาดเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะเป็นปัญหาในการขนส่งผ่านด่านเวียดนาม-จีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวน

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องมีการเตรียมระบบการขนส่งเพื่อรองรับ เช่น ทางเรือ ลดความหนาแน่นการขนส่งทางบก โดยเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตทุเรียนออกมาในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่จะมีผลผลิตออกมาประมาณ 60%

ขณะที่การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ยังไม่น่าเป็นไปได้ เพราะมีบริษัทได้รับสิทธิการบริหารจัดการมีปริมาณการขนส่งได้น้อย และราคาค่าขนส่งสูงใกล้เคียงกับเครื่องบิน ขณะที่เส้นทางทางบกซึ่งใช้กันเป็นปกติก็มีปริมาณที่มากอยู่แล้ว เส้นทาง R-3A ด่านบ่อเต็น (ลาว) ไปด่านโมฮาน (จีน) สภาพถนนชำรุด และเส้นทางขึ้นเขา ซึ่งตอนนี้ เมืองบ่อเต็นที่เคยเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนจีนได้ย้ายการลงทุนไปสามเหลี่ยมทองคำในเมียนมา

ดังนั้น การลงทุนพัฒนาถนนไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่วนทาง R12A นครพนม ไปด่านโหย่วอี้กวน จะทำให้ทางบกกระจุกตัวที่ด่าน

“การขนส่งทางเรือน่าจะเป็นเส้นทางที่ช่วยลดความหนาแน่น และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนักและปัญหาน้อย เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ปกติ ค่าระวางเรือลดลง ตู้คอนเทนเนอร์จะหมุนเวียนกลับมาเร็วขึ้น ซึ่งหอการค้าไทยได้มีการเจรจากับบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) ปีนี้ได้เพิ่มตู้มากขึ้น”

ขนส่งรายใหญ่หวั่นตู้ขาด

นายชอ ชิง แลม ประธาน บริษัท สปีด อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งข้ามชาติรายใหญ่ ซึ่งให้บริการทั้งทางบก ทางเรือ รถไฟ และทางอากาศ ครอบคลุมประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้บริษัทเป็นผู้ส่งออกทุเรียนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว เพียงรายเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น สำหรับใช้กับแคร่ของรถไฟจีน-ลาว ประมาณ 200 กว่าตู้

ซึ่งคาดว่าช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกมากจำนวนตู้ที่มีไม่น่าจะเพียงพอในการให้บริการ เพราะ 1 วัน มีรถไฟจีน-ลาวให้บริการ 7 เที่ยว/วัน ขนส่งได้ครั้งละ 35 ตู้ต่อขบวน และมีการกำหนดปริมาณน้ำหนัก นอกจากนี้ ยังต้องใช้ระยะเวลาในเรื่องขั้นตอนเอกสารผ่านในแต่ละด่านต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ถ้าจะให้เพียงพอต่อการขนส่งทุเรียนต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น อย่างน้อยประมาณ 4,000-5,000 ตู้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครกล้าลงทุนซื้อตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นจำนวนมาก เพราะลงทุนค่อนข้างสูง เพราะฤดูผลไม้มีเพียง 2 เดือน

“ขบวนการขนส่งทางรถไฟต้องมีตู้จำนวนมากและต้องหมุนเวียนตู้กับมาให้เร็ว เมื่อรถไฟวิ่งไปถึงสถานีปลายทางประเทศจีน ต้องขนสินค้าลง และให้รถไฟลากตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นเปล่ากลับมาที่สถานีรถที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างนั้นต้องมีตู้คอนเนอร์ห้องเย็นอีกส่วนหนึ่งบรรจุทุเรียนไว้ เพื่อให้พร้อมสำหรับขบวนรถไฟรอบถัดไป” นายแลมกล่าว

ปัจจุบันราคาค่าขนส่งทางรถไฟ สูงกว่าการขนส่งทางบก และทางเรือ สมมุติถ้าขนส่งรถบรรทุกจากแหลมฉบังไปถึงด่านโมฮาน ประมาณ 150,000 บาทต่อตู้ ค่าขนส่งรถไฟจีน-ลาว ปลายทางเมืองคุนหมิง ประเทศไทย ประมาณ 150,000-170,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์

รถไฟจีน-ลาว ไม่ตอบโจทย์

นายมณฑล ปริวัฒน์ ประธาน บริษัท อรษา ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกมังคุดแบรนด์ไทย เปิดเผยว่า การขนส่งผลไม้ไปจีน ทางรถไฟจีน-ลาว เป็นไปได้ยาก เพราะจำนวนตู้น้อย 30-60 ตู้/วัน และค่าขนส่งแพงมาก ขณะที่การขนส่งทางบกอาจจะมีปัญหารถติดที่ด่าน ดังนั้นบริษัทจึงได้เตรียมการขนส่งทางเรือไว้รองรับด้วย ซึ่งตอนนี้ (21 มี.ค.) การขนส่งผลไม้ไปจีนเริ่มมีปัญหาบ้างแล้ว ที่ด่านโหย่วอี้กวน มีรถติดค้างอยู่ ทั้ง ๆ ที่ปริมาณการขนส่งยังไม่มาก มีทุเรียนประมาณ 40-50 ตู้ มังคุด 10 ตู้ เช่นเดียวกับด่านบ่อเต็นก็เริ่มมีปัญหา

“อยากจะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐมีการรายงานสถานการณ์การขนส่งที่ด่านอัพเดตทุกวัน ในรูปแบบง่าย ๆ ทางโซเชียล เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และช่วยให้ผู้ประกอบการได้เตรียมการขนส่งทางบก ทางเรือ รวมทั้งการเช่าตู้ หากมีปัญหารถติดที่ด่าน ซึ่งผลไม้เสียหาย ราคาจะลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลถึงเกษตรกร”

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า สถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย คาดว่าทางการจีนอาจจะลดมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจโควิดลง ดังนั้น ปัญหารถติดค้างที่ด่านจะน้อยลง และเวียดนามเองใช้ด่านโหย่วอี้กวนน้อยลง หันไปใช้ด่านชายแดนอื่น ๆ ที่เสียภาษีน้อยกว่า ส่วนการขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว แม้จะมีความสะดวก

แต่จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า รถไฟมีตู้ขนสินค้าเพียง 35 ตู้/วัน และในแต่ละวันจำนวนเที่ยวของรถไฟยังไม่แน่นอน และอัตราค่าบริการคาดว่าน่าจะสูง หากขนสินค้าไป แต่ขากลับไม่มีสินค้าขนกลับมาก็จะไม่คุ้ม หากบริษัทตั้งราคาจะต้องซื้อตู้จากบริษัทจีนมาให้บริการ ประมาณตู้ละ 150,000 บาท การใช้บริการต้องติดต่อล่วงหน้า 3-4 วัน

เทียบขนส่งบก-เรือ-อากาศ-รถไฟ

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดรายใหญ่ในภาคตะวันออก ให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการขนส่งว่า ตอนนี้การขนส่งทางบก ที่ผ่านด่านนครพนม ไปด่านโหย่วอี้กวน และจากเชียงของ จ.เชียงราย ไปบ่อเต็น สปป.ลาว ข้ามไปด่านโมฮานของจีน ราคาขนส่งอยู่ที่ประมาณ 110,000 บาท/ตู้ บวกภาษีและค่ารถขนส่งในจีนอีก 500,000 บาท หรือรวมประมาณ 610,000 บาท

ส่วนทางเรือค่าขนส่งตู้ละ 72,000 บาท แต่ต้องขนส่งทางรถยนต์จากจันทบุรีไปแหลมฉบังตู้ละ 16,000 บาท รวมเป็น 88,000 บาท หากบวกรวมค่าภาษีจีน 30,000 บาท บวกค่ารถบรรทุกในจีนอีก รวมตกประมาณตู้ละ 480,000 บาท

ขณะที่การขนส่งทางอากาศ ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1,150,000 บาท/ตู้ ส่วนในช่วงที่มีผลผลิตออกมาก ราคาค่าขนส่งก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างน้อยประมาณ 30% การขนส่งด้วยรถไฟจีน-ลาว แม้จะสะดวกรวดเร็วมาก ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจ แต่ในแง่ของราคาค่าขนส่งยังไม่มีความชัดเจนนัก บางกระแสแจ้งว่าสูงถึงตู้ละ 230,000-240,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง

อนึ่ง ข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ระบุว่า ปี 2566 ทุเรียนภาคตะวันออกจะมีปริมาณ 756,465 ตัน แบ่งเป็นจันทบุรี 507,901 ตัน ระยอง 158,137 ตัน ตราด 90,427 ตัน ด้านการส่งออกปี 2565 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนปริมาณ 881,829 ตัน มูลค่า 94,100,24 ล้านบาท แบ่งเป็นทุเรียนภาคตะวันออก 732,330 ตัน มูลค่า 83,000 ล้านบาท