จีดีพีเกษตรไทยปี’66 พุ่ง 3% กวาด 8 แสนล้าน เตรียมทำประกันภัยทุเรียน

ประกันภัยทุเรียน
ภาพจาก PIXABAY

จีดีพีเกษตรไทยไตรมาส 1 โตพุ่ง 5.5% ทะลุ 1.82 แสนล้าน ปัจจัยบวกจากกลุ่มผลไม้ “ทุเรียน” หนุน สศก. คาดทั้งปี’66 โต 3% กวาด 8 แสนล้าน เตรียมเดินหน้าประกันภัยทุเรียน จับตาปัจจัยเสี่ยงน้ำ-เศรษฐกิจโลก-ต้นทุนน้ำอาหารสัตว์กระทบ

วันที่ 24 มีนาคม 2566 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายในงานครบรอบ 44 ปีแห่งการสถาปนา สศก.ว่า สศก.คาดการณ์แนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรปี 2566 จะขยายตัว 2-3% มูลค่า 700,000-800,000 ล้านบาท โดยล่าสุดในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 จีดีพีขยายตัวแล้ว 5.5% มูลค่า 182,000 ล้านบาท

สำหรับจีดีพีภาคเกษตรรายสาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัว 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ส่วนพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 0.8% โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ น้ำนมดิบ สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 4.0% สาขาป่าไม้ ขยายตัว 0.7% จากความต้องการสินค้าไม้ยูคาลิปตัสเพื่อผลิตเยื่อกระดาษ

โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น ครั่ง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมถึงมีการส่งเสริมการเลี้ยง รังนก เพิ่มขึ้นตามความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก และยังมีการส่งออกไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และมีการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น

ส่วนสาขาที่จีดีพีปรับลดลง ได้แก่ สาขาประมง หดตัว 0.5% จากการเลี้ยงปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง ส่วนกุ้งขาวแวนนาไม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อจีดีพีภาคเกษตรไตรมาส 1 มาจากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับในปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี

ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกและดูแลเอาใจใส่การผลิตมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการผลิตทั้งโรคระบาดในโคและสุกร ทำให้ไม่สามารถเพิ่มได้ ส่วนสาขาประมงปรับลดลง จากปัจจัยราคาน้ำมันในการออกเรือประมงสูงขึ้น จึงส่งผลให้เกษตรกรลดการออกเรือ ขณะที่การเลี้ยงปลาน้ำจืดปรับลดลง จากที่เกษตรกรประสบปัญหาราคาอาหารสัตว์แพงมาก ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเลี้ยง

ส่วนแนวโน้มหลังจากไตรมาส 2 ต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีภาคเกษตรว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 2-3% หรือไม่ โดยมีปัจจัยหลักมาจากเรื่องปริมาณน้ำซึ่งขณะนี้เท่าที่ติดตามยังมีปริมาณเพียงพอต่อการทำการเกษตร ส่วนปัจจัยเชิงลบจากมีเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะสภาพอากาศแปรปรวน

ซึ่งล่าสุดในปีนี้เกิดฝนตกและมีลูกเห็บ ส่งผลต่อภาคเกษตรตลอด และราคาปัจจัยการผลิตที่สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องหันมาสร้างพืชอาหารสัตว์ พลังงานทดแทนต่าง ๆ หากเรายังพึ่งพลังงานฟอสซิลก็จะเป็นไปตามตลาดโลก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการระบาดของโรคพืชโรคสัตว์ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก การขัดแย้ง ทำให้เกิดแซงก์ชั่น การปิดเส้นทางขนส่งสินค้า ระงับการนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก และการล้มละลายของสถาบันการเงินในอเมริกา แม้ว่าจะไม่ใช่ปัจจัยโดยตรง แต่ก็เชื่อมโยงกัน สะเทือนการเคลื่อนย้ายเงิน

ชู BCG-สร้างความมั่นคงทางอาหาร

นายฉันทานนท์กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนจีดีพีภาคการเกษตรนั้นจะยังคงมุ่งเน้นการใช้นโยบาย BCG ซึ่งครอบคลุมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วย Bio โดยไทยต้องปรับเปลี่ยนจากที่เดิมผลิตสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานราคาถูก ซีงต่อไปต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ส่วนเรื่อง Circular ทุกอย่างต้องรียูสของที่เหลือใช้ทางการเกษตร ลดผลกระทบ และสุดท้าย Green Economy ก็ต้องเดินหน้าผลักดันต่อไป เช่นเดียวกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการผลิต ลดต้นทุนการนำเข้าเป็นนโยบายหลักที่ต้องทำต่อ

เปิดตัวประกันภัยทุเรียน

ในปีนี้ สศก.ได้เร่งวางระบบประกันภัยพืชผลทุกมิติมาช่วย โดย เริ่มจากได้มีการพัฒนาระบบประกันภัยภาคเกษตรทุกมิติ เมื่อ2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าว ข้าวโพด ได้เริ่มใช้ระบบประกันภัยมากขึ้น และปีนี้จะมุ่งดำเนินการในสินค้ามูลค่าสูงอย่างทุเรียน โดยนำร่องการประกันภัยต้นทุเรียนไปแล้วในจ.นนทบุรี

สำหรับการประกันภัยทุเรียนนั้น จะอาศัยระบบวัดระดับแรงลมที่ส่งผลกระทบต่อผลทุเรียนให้หล่นจากต้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยจะลงพื้นที่ จ.ระยอง และจันทบุรีเตรียมกำหนดค่าแรงลมที่จะส่งผลกระทบต่อทุเรียน

และจะมีภาคเอกชนเข้ามารับประกันความเสียหาย ทั้งยังต้องยกต่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียบ 1.3 ล้านไร่ทั่วประเทศ ก็จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประกันความเสี่ยงได้”

“การประกันภัยทุเรียน เริ่มจากระยอง จันทบุรี จะใช้ระบบความเร็วลมไปติด เพื่อดูว่าลูกตกจากต้น ระบบประกันเท่านี้จะจ่ายราคาเท่าไร แต่ต่อไปทำประกันภัยทุกมิติ เช่น การให้ความคุ้มครองเกษตรกรหากมีอุบัติเหตุ หรือไม่ได้ราคาที่เหมาะสมก็จะได้เข้าไปคุ้มครอง ตอนนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.ทำรายละเอียดต่าง ๆ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งจะแล้วเสร็จ”

ปั้น 2 แอปพลิเคชั่นช่วยเกษตรกร

พร้อมกันนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนานำร่องใช้แอปพลิเคชั่น 2 แอปพลิเคชั่น คือ แอปพลิเคชั่นบอกต่อ เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยเกษตรกรรับทราบข้อมูล เช่น เกษตรกรที่เป็นสมาชิกจะทราบข้อมูลว่าแต่ละจังหวัดใดมีการจัดกิจกรรมอะไรบ้างรวมถึงกรมได้มีการจัดแจกพันธุ์พืชหรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่ไหนอย่างไร ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถที่ใช้โทรศัพท์มือถึอทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์ หรือที่ใช้คอมพิวเตอร์สามารถใช้ได้

ส่วนแอปพลิเคชั่นที่ 2 จะเป็นการแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมผู้ให้บริการทางการเกษตร (agriculture service provider) ขึ้น เพราะปัจจุบันบริการทางการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้ว่ามีบริการนี้ ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้จะรวบรวมและขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการด้านการเกษตร ต้องมีการระบุราคาชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้เหมาะสมกับความต้องการ

ยืนหนึ่ง ประกันรายได้

สำหรับการใช้นโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 รายการ (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา) ยังนับว่าเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีระดับรายได้ที่มั่นคง แต่อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาระดับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการดี ทำให้ไม่ต้องใช้ประกันรายได้ ส่วนปีนี้ข้าวนาปรังอยู่ในระดับราคาที่ดี แต่ต้องดูถึงสิ้นปีว่าราคาข้าวออกมาหมดจะอยู่ที่เท่าไร

จีดีพีเกษตร

จีดีพีเกษตร

จีดีพีเกษตร