อานนท์ไบโอเทค ลพบุรีนำร่อง ใช้นวัตกรรมดัน “เห็ด” สู่พืช ศก.ตัวใหม่

อานนท์ไบโอเทค

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ได้จัดงาน “วันเห็ดเศรษฐกิจไทย 2023” บริบทใหม่ : การพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจด้วยฐานนวัตกรรม KU-THAILAND MUSHROOM DAY 2023 :

HEALTHY LIVES&WEALTHY ECONOMY ณ ฟาร์มอานนท์ไบโอเทค ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เพื่อผลักดันเกษตรกรทั่วประเทศหันมาเพาะปลูกเห็ด สร้างรายได้ อาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเห็ดไปสู่ทุกมิติ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ จนถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ไทยนำเข้าเห็ดผลิตไม่พอขาย

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันอานนท์ไบโอเทค กล่าวว่า การปลูกเห็ดมีโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อัตราการบริโภคเห็ดของคนไทยในช่วงที่เริ่มต้นส่งเสริมอยู่ที่ 235 กรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วมีการบริโภคอยู่ที่ 23,000 กรัมต่อคนต่อปี สะท้อนว่าในขณะนั้นในไทยไม่มีคนรู้เรื่องเห็ดเลย ยกเว้นเห็ดป่าเท่านั้น

หลังจากตั้งชมรมเห็ด ใช้เวลา 5 ปี ไทยกลายเป็นประเทศที่ผลิตเห็ดฟางมากที่สุดในโลก ทำให้คนไทยสนใจ ปัจจุบันการบริโภคของคนไทยอยู่ที่ 13,000 กรัมต่อคนต่อปี ผลิตได้เองที่ 500,000 ตันต่อปี ขณะนี้โมเดิรน์เทรดต่าง ๆ เช่น บิ๊กซี โลตัส ไม่มีเห็ดที่ผลิตในเมืองไทยขาย ต้องนำเข้าเพราะไทยส่งเสริมให้คนกินเห็ด แต่กลับมีคนเพาะเห็ดน้อย

เห็ดมีสายพันธุ์หลากหลาย ควรส่งเสริมอย่างเร่งด่วนคือ เห็ดโคน ถือว่าเป็น king of mushroom หรือ “สุดยอดของเห็ด” แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ใช้เพียงเปลือกมันมากองไว้ ใช้เวลา 10 วันก็ได้ดอกแล้ว นอกจากนี้ยังเหลือวัสดุเหลือใช้จากการเพาะมารวมกันเป็นปุ๋ย โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ที่น่าสนใจอีกประเภทคือ ประเทศไทยนำเข้าเห็ดเยื่อไผ่ ประมาณ 100,000 ตันต่อปี ในเมื่อสามารถเพาะได้เองในประเทศแล้ว

จึงมีเป้าหมายของประเทศที่ว่า ประเทศไทยต้องกลายเป็น ประเทศที่สามารถเพาะเห็ดเยื่อไผ่ได้มากที่สุดของโลก รวมถึงสามารถต่อยอดผลิตเห็ดเป็นเครื่องสำอางได้

“ต้องการให้อานนท์ไบโอเทค เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเห็ดอย่างครบวงจร พร้อมกับรวบรวมสิ่งใหม่จากทั่วโลกมาให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลเพนียด และประชาชนพื้นที่อื่น ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับความพร้อมของแต่ละคน เพราะเราเชื่อมั่นว่าตลาดเห็ด เป็นตลาดที่น่าสนใจ ที่เกษตรไทยไม่ควรมองข้าม” ดร.อานนท์กล่าว

ใช้นวัตกรรมดัน “เห็ด” พืชตัวใหม่

รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทั้งผลักดันให้เห็ดเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยจะนำ “นวัตกรรม” มาเป็นตัวตั้ง ภายใต้เป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเห็ดให้เกิดรายได้ และใช้ประโยชน์จากการพึ่งพากันได้ทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร สถาบันการศึกษา นักลงทุนและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

“เราต้องการใช้ประโยชน์จากเห็ดตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อต่อจิ๊กซอว์แต่ละมิติให้ครบต้นสายการผลิต หรือ value chain สร้างรายได้ นวัตกรรม สังคมพึ่งพากัน ปักหมุดฐานนวัตกรรมที่อาจนำไปใช้แบบเดียวกันกับพืชตัวอื่นได้ในอนาคต”

นายสิทธิ ภู่เอี่ยม นายอำเภอโคกสำโรง กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ จ.ลพบุรีถือว่ามีศักยภาพ มีเกษตรกรประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์รายชนิดกระจายอยู่กว่า 13 ตำบล 11 อำเภอ และเป็นเมืองที่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี สามารถแฝงเรื่องการเกษตรไปกับการท่องเที่ยว การใช้พื้นที่จังหวัดลพบุรีในการพัฒนาเห็ด เมื่อนักท่องเที่ยวทราบอาจจะพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้

ขณะที่ ผศ.ดร.กันยา บาร์นท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จัดอยู่ในมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 3 ต้องมีภารกิจในการ “พัฒนาชุมชนและท้องถิ่น” ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งทางเทพสตรีได้ทำการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงการจัดกิจกรรมนานาชาติ เช่น วันเห็ดโลก ทำให้นักศึกษาได้มาเข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

หอชูแปรรูปสร้าง “จุดต่าง”

นายพงศธร ชัยชนะพานิช ประธานหอการค้าจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า นักลงทุนและเกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจด้านการลงทุนเพาะเห็ด และการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้ เห็ดมีความน่าสนใจลงทุนในส่วนที่จะนำผลผลิตมาต่อยอดเป็นยาและสมุนไพร ซึ่งค่อนข้างใช้เวลา หากต้องการโปรโมตเห็ดเป็นพืชเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว ต้องร่วมกันต่อยอด ต้องมีการแปรรูป

เพราะปัญหาสำคัญที่เห็นนอกจากต้องหาตลาดรองรับแล้ว ยังต้องสร้างความแตกต่าง เพื่อไม่ต้องเผชิญกับการขายดัมพ์ราคากัน ยิ่งมีการแปรรูปที่หลากหลายจะยิ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น และหากมองในระดับประเทศที่ต้องการมุ่งให้ประเทศเข้าสู่ S-curve หรือธุรกิจใหม่ที่เป็นโอกาสสร้างการเติบโตให้กับองค์กรในอนาคต

“อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการแปรรูปให้เกิดขึ้นในจังหวัดลพบุรี ซึ่งจะเป็นทางออกให้กับจังหวัดลพบุรีได้ และทางหอการค้าจะศึกษาในเรื่องเห็ด พร้อมทั้งหาลู่ทางตลาดใหม่ ๆ ที่จะสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างไรต่อไป”