กฟผ.แตกไลน์ธุรกิจเวลเนส ดึงกฎบัตรไทยดันพื้นที่เขื่อนหารายได้

กฟผ.ผนึกกฎบัตรไทย และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย เตรียมเซ็น MOU นำพื้นที่รอบเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั่วไทย ดึงเขื่อนใหญ่นำร่องก่อน “เขื่อนศรีนครินทร์-เขื่อนภูมิพล-เขื่อนวชิราลงกรณ-เขื่อนอุบลรัตน์-เขื่อนรัชชประภา-โรงไฟฟ้ากระบี่” ประกาศเข้าสู่ เขตนวัตกรรมการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ แตกไลน์สู่ “ธุรกิจเวลเนส” เตรียมแผนรีโนเวตระบบสาธารณูปโภค อาคาร สถานที่ รองรับการทำเวลเนสทัวริซึ่ม-สปอร์ตทัวริซึ่ม สร้างรายได้ให้ กฟผ. และคนในชุมชนรอบเขื่อน

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ทางกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัย 10 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยพะเยา จะได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการนำเขื่อนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ และเขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมรอบชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่ กฟผ.มีอยู่ โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี การบริหารจัดการของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การถ่ายทอดองค์ความรู้ ในระยะเวลา 5 ปี

ฐาปนา บุณยประว้ตร

“กฟผ.ต้องการบริหารจัดการพื้นที่เหนือเขื่อนด้านเวลเนส เพื่อพัฒนาและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนรอบเขื่อน ซึ่งที่ผ่านมาทุกปีจะมีการจัดสรรเม็ดเงินลงไปพัฒนาชุมชนรอบเขื่อนทั่วประเทศในลักษณะ CSR ประมาณ 2 พันล้านบาทอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง ภาคกลางกำลังทำแผนพัฒนา 2 เขื่อนใหญ่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแม่งานหลัก

ซึ่งตอนนี้กำลังทำรายละเอียดอยู่ ส่วนภาคอีสานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแม่งานหลัก และเขื่อนลำตะคอง และเขื่อนจุฬาภรณ์ มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มรท.อีสาน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นแม่งานหลัก ส่วนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจะมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยอีกแรงด้านการแพทย์”

ผศ.ดร.ภก.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฟผ.อยากจะใช้สินทรัพย์คือเขื่อนต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา กฟผ.ทำ CSR กับประชาชนในพื้นที่รอบเขื่อน แต่สุดท้ายไม่มีตัวซัพพลายเชนไปสู่การพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าสูง จึงอยากเห็นแนวทางการบริหารรูปแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนจาก CSR เดิม จึงคิดว่าเวลเนสน่าจะเป็นตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงทำให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยใช้ตัวพื้นที่ของเขื่อน โดยเชื่อมโยงกับชาวบ้านเข้ามามีส่วนรวม

ในพื้นที่ภาคใต้จะใช้ 2 เขื่อนหลักนำร่อง ได้แก่ 1.เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ใช้แนวคิด Health for Wealth เป็นนโยบายการดำเนินงาน และ 2.โรงไฟฟ้ากระบี่ ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปดูศักยภาพของพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ากระบี่ คิดว่าน่าจะพัฒนาเป็น “เวลเนสทัวริซึ่ม” และเน้นเรื่อง “สปอร์ตทัวริซึ่ม” ได้ด้วย ซึ่งตรงกับแผนของกระบี่

“กฎบัตรไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ องค์กรเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาเวลเนสในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และเกาะสมุยแล้ว เส้นที่เป็นตัวแลนด์บริดจ์ระหว่างอันดามันกับเกาะสมุย อ่าวไทยตรงนี้ กฟผ.น่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนได้ดี เช่น การสนับสนุนด้านกำลังคนจากการพัฒนาคนรอบเขื่อนขึ้นมา เนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา คนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่อันดามันได้กลับไปสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก ทำให้เวลเนสขาดกำลังคนจำนวนมาก

ได้คุยกับ กฟผ.จะพัฒนาคนรอบเขื่อนก่อน ถ้ามีการพัฒนากำลังคนได้มากจะส่งมาช่วยที่พื้นที่อันดามัน รวมถึงการพัฒนาด้านอาหารปลอดภัย พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เกิดขึ้น รวมถึงมีการรีโนเวตอาคารสถานที่ต่าง ๆ ภายในพื้นที่รอบเขื่อนให้สามารถรองรับแผนเวลเนสในอนาคตได้ โดยจะมีการบูรณาการข้อมูลจากทุกมหาวิทยาลัยเข้ามา โดยภาคต่าง ๆ มีเขื่อนอีกหลายแห่ง จะได้เห็นการพลิกโฉมใหม่ ๆ ของ กฟผ. น่าจะสะท้อนจากเดิมพัฒนาด้านไฟฟ้า ตอนนี้น่าจะมีมิติที่เป็นด้านเวลเนส”

แหล่งข่าวจาก กฟผ.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับแผนเบื้องต้นของเขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน ปัจจุบันมีโครงการพลังงานสีเขียว (Green Energy) หรือพลังงานสะอาด ซึ่งตรงกับแผนของเวลเนส มีบริการห้องพักต่าง ๆ มีห้องอาหาร ห้องประชุม สนามกอล์ฟ มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเวลเนสได้ หากมีการปรับเปลี่ยนจากห้องพักในเขื่อนไปเน้นการดูแลฟื้นฟูสุขภาพ จะสามารถพัฒนาชุมชนให้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการฟื้นฟูสุขภาพ

โดยนำการวิจัยและนวัตกรรมไปเติม และพอพัฒนาตรงนั้นได้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนถูกยกระดับ แทนที่จะเป็นเพียงสินค้าโอท็อป ต้องมาขึ้นทะเบียนกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ให้ถูกต้อง เป็นการยกระดับสินค้า และเพิ่มช่องทางการตลาดได้อย่างดี