ส่องแผนธุรกิจ กฟผ.หลังยืดหนี้ ช่วยค่าไฟประชาชน

การช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายแพงขึ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ล่าสุด ด้วยการขยายเวลารับภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จากเดิม 2 ปีเป็น 2 ปี 4 เดือน หรือคำนวณตามงวดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวด 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. โดยประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าลดลงจาก 4.72 บาทเหลือ 4.70 บาท

ขณะที่ภาคธุรกิจ ซึ่งเดิมจ่ายอยู่ที่หน่วยละ 5.33 บาท ก็ลดลง 0.63 บาท โดยความช่วยเหลือครั้งนี้จัดเป็นภารกิจเพื่อชาติ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแผนการปรับการทำงานของ กฟผ. หลังลดค่าไฟฟ้าช่วยเหลือประชาชนมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564

ข้อเท็จจริงการปรับลดค่าไฟฟ้า

ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงนั้น (ค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่าย 4.72 บาท) ทาง กฟผ.ได้กลับมาคำนวณค่า Ft ใหม่อีกรอบ จากสมมุติฐานว่า อัตราแลกเปลี่ยน (FX) 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และวันนั้นราคาก๊าซ LNG วางไว้ 19.6 เหรียญสหรัฐล้านบีทียู พอเราคำนวณเสร็จ ทาง ปตท.ก็ทำราคาก๊าซใหม่มาให้เป็น 14.87 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจังหวะนั้น FX 33.23 ตีกลับไปที่ 34 กว่า จึงปัด 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ FX ผูกไปกับค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าเชื้อเพลิง (EP) เป็นส่วนผสมของ LNG ที่ซื้อมาเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อค่าบาทอ่อนค่า AP ใช้ FX ก็ปรับขึ้นด้วย

ค่าความพร้อมจ่าย AP คือ ค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้ามาในระบบ เหมือนการเช่ารถยนต์ 5 ปี แปลว่า รถยนต์ต้องพร้อมใช้ตลอด ต้องมีคันที่สแตนด์บายไว้ให้ใช้ได้ตลอด เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าก็เหมือนกัน เช่าแล้วต้องจ่ายค่า AP ซึ่งหากเทียบ FX 35 บาท ค่า LNG ลดจาก 19.6 เหลือ 14.87 เหรียญสหรัฐ เฉพาะต้นทุนราคา LNG จะลดได้ถึง 10,700 ล้าน

แต่ด้วย FX อัตราแลกเปลี่ยนตีกลับขึ้นมา จึงกลายเป็นว่า สุทธิเราสามารถลดได้เพียง 4,200-4,500 ล้านบาท พอรู้เรารีบแจ้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งด้วยระยะเวลาที่จำกัด เพราะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องพิมพ์ใบเสร็จ 20 ล้านใบ การไฟฟ้านครหลวงพิมพ์ 4 ล้านใบ ใช้เวลาทั้งเดือน ดังนั้นเริ่มต้นที่เร็วที่สุดที่จะลดได้ก็คือ เดือน พ.ค. ถ้านับจากระยะพิมพ์บิล จึงได้ข้อสรุปว่า กฟผ.รับสภาพไป ด้วยสมมุติฐานเดิมคือ 19.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ช่วยงวด 2 ลุ้นงวด 3

นั่นจึงเป็นที่มาของการขยายเวลาการรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เดิมจะต้องใช้คืน กฟผ.ภายในระยะเวลา 2 ปีหรือ 6 งวด เริ่มนับ ม.ค.-เม.ย.ปี’66 คือ งวดที่ 1 แต่เก็บไปแล้ว 1 งวด จะเหลืออีก 5 งวด ฉะนั้นถ้าจะลดขยายไปอีกจาก 6 งวดเป็น 7 งวด ถ้าขยายเป็นอย่างนี้ จากเดิมที่หาร 5 กับหาร 6 ทำให้เราสามารถเรียกเก็บคืนได้ประมาณ 18,000 ล้านบาท กลายเป็นว่า EGAT ขอลดค่าเงินที่จะเรียกเก็บคืนค่า Ft ครั้งเดียวคือ จากเดิมที่เก็บได้ 22,000 กว่าล้านก็ลดลงไป 4,000 กว่าล้าน เหลือ 18,000 ล้านบาท พอ ๆ กับสมมุติฐานที่เปลี่ยนใหม่เป็นว่า EGAT เก็บเงินได้ช้าลงหน่อยนั่นเอง

เราคำนวณการรับภาระงวด 2 ตามสมมุติฐานใหม่ที่ ปตท.ทำตัวเลขมา และเราโชคดีสามารถซื้อก๊าซได้ในราคาต่ำ ก็จะไม่เดือดร้อน แต่ได้แค่งวดเดียวเท่านั้น ส่วนงวด 3 ยังไม่รู้เพราะเข้าสู่ฤดูหนาว ตลาดโลกทั้งยุโรปและสหรัฐต้องการเชื้อเพลิงทำความร้อน ความต้องการสูงขึ้น supply จะโดนดึงราคาขึ้น งวดหน้าว่ากันใหม่

แต่ผมคงไม่ขยายระยะเวลาการใช้หนี้คืนเป็น 3 ปีหรือ 9 งวดอีกแล้ว เพราะ กฟผ.มีไปกู้เงิน ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่ต้องชำระ เป็น slot เฉลี่ยแล้วประมาณ 2.5 ปี พอพูดได้ก็เป็นคาดการณ์ว่าจะจ่ายคืนภายใน 2 ปี ถึงงวด 1 เดือน ม.ค.-เม.ย.ปี’68 แต่ถ้าสถานการณ์มันดีขึ้น ราคาก๊าซลดลงมาเหลือ 9-8 เหรียญสหรัฐ ก็อาจจะสามารถได้รับชำระเร็วขึ้น แค่ ธ.ค.ปี’67

เลื่อนส่งเงินคืนรัฐ

ถ้าจำเป็นที่จะต้องช่วยลดค่าไฟฟ้าอีกหลังจากนี้ แต่สถานะ กฟผ.ไม่มีเงินแล้ว ข้อแรกคือ กฟผ.กู้เงิน 25,000 ล้านบาท แบบที่ไม่ต้องมีใครมาค้ำ แต่นี่ปูดขึ้นไป 1.5 แสนล้านบาท โดยเราต้องกู้ 25,000 ล้านบาท และกู้อีก 85,000 ล้านบาท ส่งผลให้ กฟผ.ไปเบียดรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินก็จะกู้ไม่ได้ เพราะเพดานหนี้เต็ม ดังนั้น กฟผ.จึงไม่สามารถกู้ได้ เขาให้กู้แค่นี้ 1.1 แสนล้านบาท ไม่ได้เต็ม 1.5 แสนล้านบาทคือ 25,000 ล้าน เรากู้เอง+85,000 ล้านรัฐบาลค้ำประกันให้

นอกจากนี้ในช่วง 2 ปี 4 เดือน กฟผ.ยังต้องนำส่งเงินคืนรัฐ แต่เราขอขยายระยะเวลานำส่งไป งวด 2 ของปี’64 เราจ่ายไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1 รอบ ส่วนงวด 1 ของปี’65 กับงวดที่ 2 ของปี’65 เราขอเลื่อนจ่าย โดยหารือ สคร.ให้สามารถเลื่อนได้ 3-5 ปี แต่ห้ามลดทางเราจึงขอเลื่อนก้อนปี’65 มาจ่ายกันยายนปีนี้ 10,000 ล้านบาท และจ่ายตุลาคมนี้อีก 6,000 ล้านบาท ของตุลาคมนี้จะเป็นของงวด 1 ปี’66

ฉะนั้น จะเห็นสลอตแรกดีเลย์ สลอต 1 กับ 2 ของปี’65 ก็คาดว่าจะจ่ายปีนี้ รัฐบาลให้เรา 91.19 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งคำนวณแล้วว่า เรามีเงินเพียงพอจะชำระดอกเบี้ย ค่าก๊าซ ปตท. และพอที่จะชำระค่าซื้อไฟฟ้าเอกชนทั้งผู้ผลิตไฟฟ้า IPP และ SPP เพราะฉะนั้นเราคำนวณตัวเลขนี้ไป กฟผ.ก็อยู่ได้ถึงสิ้นปี แล้วภาระเงินของรัฐเราก็ชำระ 10,000 กับ 15,000 ล้านไป โดยยอดงวด 1 และงวด 2 ปี’65 รวมกัน 2 หมื่นล้าน แต่ชำระไปพร้อมของปี’64 รวมบางส่วนด้วยจะเหลือค้างอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท

แผนการลงทุนของ กฟผ.

แม้ว่าจะถูกยืดหนี้และยังต้องจ่ายเงินคืนให้กับรัฐ แต่เป็นการบริหาร term loan ซึ่งจะแยกพอร์ตกับเงินลงทุน ที่เรียกว่า investment loan เป็นคนละยอด กฟผ.ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนในไปป์ไลน์ เงินลงทุนใหม่เราออกบอนด์ไปแล้ว ส่วนการออกบอนด์ใหม่อีกได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ credit rating ตอนนี้ทริส BBB+ และฟิตช์เรตติ้งก็ให้ใกล้เคียงกัน เทียบเท่ากับทางฝั่งรัฐบาล ทำให้กู้ได้ออกพันธบัตรได้ เพราะฝั่งการเงินเชื่อมั่นในสิ่งที่ regulator กำกับไปตามสูตรคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ

โดยแผนการลงทุนปีนี้ กฟผ.วางงบประมาณไว้ราว 30,000 ล้านบาท ซึ่ง 90% เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สายส่ง สมาร์ทกริด ส่วนลงทุนผลิตไฟฟ้าใหม่จะมีโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เซ็นสัญญากับกลุ่มมิตรผลและบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ส่วนโรงไฟฟ้ามีการเปิดบิด (Bid) ระยะยาว อยู่ระหว่างการเปิดประมูลใหม่ คือ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ยุทธศาสตร์ กฟผ.หารายได้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กฟผ.ยังมีกำไรที่รัฐให้ในสัดส่วน 5.03% ของเงินลงทุน แต่ กฟผ.ต้องเตรียมพร้อมในการหารายได้จากธุรกิจใหม่ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การผลิตไฟฟ้า กฟผ.มีสัดส่วนเพียง 30% ในปัจจุบัน (น้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าของเอกชน) และในอนาคตตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด (PDP2018 Rev.1) ระบุว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะลดลงเหลือแค่ 24% ในปี 2580 เท่ากับว่า กฟผ.ต้องหารายได้เพิ่มในช่องทางอื่น

กฟผ.มีบริษัทลูก เช่น RATCH Group แบ่งมา 45% เอ็กโก 25% EDS (บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด) ก็ 30% ส่วน EGATiโดยสัดส่วนรายได้ก็สามารถช่วยเติมให้กับ กฟผ.ได้อีกทางหนึ่ง และหาก กฟผ.สามารถทำรายได้ return on sale ซื้อไฟแล้วก็มาขาย ถ้าบวกเพิ่ม 5-10% ได้ในอนาคตก็มีส่วนช่วยให้รายได้ กฟผ.เพิ่มขึ้นได้

การทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ประเด็นการปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายกับเอกชนไฟฟ้านั้น สามารถทำได้ แต่ต้องมองให้รอบด้าน สมมุติหากเราทำสัญญาเช่ารถ 3 ปีแล้วไม่จ่าย การไม่จ่ายจะส่งผลเชื่อมโยงถึงความมั่นใจในการลงทุนรอบหน้าก็จะไม่มีใครมาร่วม แต่ถ้ารัฐบาลให้เจรจาด้วยวิธีแลกเปลี่ยน อาทิ การขยายเวลาผลตอบแทนให้ยาวขึ้นได้ เพียงแต่การยืดอายุโรงไฟฟ้ามากเกินไปก็จะมีผลกับอายุการใช้งานของเครื่องเทอร์ไบน์ด้วย จะคุ้มค่าหรือไม่

สมมุติเช่ารถมา 25 ปี คิดว่าจะขายก็คงไม่ยอมซ่อมปีสุดท้ายเพื่อให้คนซื้อไปซ่อมเอง ถ้าจะยืดอายุสัญญา ต้องคุยเงื่อนไข เรื่องการซ่อมแซมด้วย ถ้าให้ยืด 1 ปีได้ให้ซ่อมได้ แต่ถ้ายืด 2 ปีก็ต้องใช้ก๊าซเทอร์ไบน์ตัวใหม่ไหมต้องมาคุยกัน แต่ถ้าไม่เปลี่ยนอัตราการผลิตไม่คุ้ม รถยนต์โอเวอร์ฮอล ดังนั้นต้องมองอย่างรอบด้านว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่ ตอนนี้มีวิธีเจรจาหมดแล้ว หากต้องเจรจากับคู่สัญญาจริง ต้องลองดูว่า จะมีใครยอมเข้ามาเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะมากันหมด แต่ไม่รู้ว่าจะเจรจาสำเร็จกี่ราย

หาเสียงลดค่าไฟ 70 สตางค์

กรณีถ้ารัฐบาลจะมีนโยบายลดค่าไฟฟ้า 70 สตางค์ เท่าที่ลองคำนวณดูแล้วภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน จะลดไม่ถึงเท่านโยบายที่ออกมา อาจจะไม่ถึงครึ่ง อยู่ที่ กฟผ. เพราะเงินหมดกระเป๋าแล้ว กฟผ.เป็นฝั่งปฏิบัติ หากมีนโยบายไหนมา ทาง กฟผ.ก็ต้องทำตามนโยบาย โดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

หรือกรณีถามว่า จะให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาร่วมใช้ก๊าซในราคาเดียว pool price กับก๊าซของอ่าวไทย เพื่อไปผลิตสินค้าที่มูลค่าเพิ่มกว่า 10-20 เท่า เพราะมูลค่าสินค้าผลิตได้สูง อาจจะสามารถซื้อวัตถุดิบในราคาที่สูงหน่อยก็ได้ แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับระดับนโยบายตามมติ กพช.พิจารณา