ราคา LNG โลกขาลง ปตท.จ่อนำเข้า LNG SPOT ปี’66 ทะลุ 4 ล้านตัน ลุ้นค่าไฟถูก

LNG

ปตท.จ่อนำเข้า LNG SPOT ปี’66 ทะลุ 4 ล้านตัน เพิ่มจากปี’65 นำเข้า 3 ล้านตัน หลังความต้องการใช้ฟื้น-แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศทุกแหล่งยังผลิตไม่เพียงพอ แง้มราคาเฉลี่ยไม่ถึง 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู วางเป้าหมายเทรดดิ้งน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรล รอลุ้น กกพ.เคาะค่าไฟลง

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะสั้น หรือ LNG SPOT จำนวน 60 ลำ (บรรทุกลำละ 65,000 ตัน) หรือปริมาณ 3.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน จากปีก่อนที่มีการนำเข้า 53 ลำ ปริมาณ 3 ล้านตัน โดยจะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก

พงษ์พันธุ์-อมรวิวัฒน์

เนื่องจากสถานการณ์ราคาแอลเอ็นจีสปอตล่าสุดปรับลดลงเหลือ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งถือเป็นราคาที่จูงใจ และเมื่อมองถึงระดับราคาซื้อขายล่วงหน้าถึงเดือน ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งทำให้มองว่าแนวโน้มราคาคงไม่ปรับขึ้นไปสูงเท่ากับช่วงที่เคยวิกฤต 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบีทียู และปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศทุกแหล่งยังไม่เพียงพอ

“การทำสัญญาล่วงหน้าต้องเตรียมไว้ก่อน เบื้องต้นถัวเฉลี่ยราคานำเข้าออกมาแล้ว ไม่เกิน 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู พื้นที่ในการจัดเก็บไม่เยอะ ส่วนโอกาสที่จะมีการนำเข้าเพิ่มได้ถึง 100 ลำ หรือ 6.5 ล้านตันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่โดยส่วนตัวยังมองว่าไม่ถึง 100 ลำ ส่วนราคาระดับนี้จะมีผลดีต่อค่าเอฟทีงวดมากน้อยเท่าไรนั้น ต้องดูการคำนวณของ กกพ.”

สำหรับเป้าหมายภาพรวมในการหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2566 คาดว่าจะมีการปริมาณการเทรดดิ้งน้ำมันดิบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับปี 2565 โดยสถานการณ์ราคาพลังงานในต่างประเทศ คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบล่าสุดอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และปัจจุบันคาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยหลักมาจากดีมานด์การใช้ ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าจะกลับมาหลังโควิดคลาย แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังมีความกังวลปัญหาการเงินในสหรัฐ ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันสำเร็จจรูปยังต้องดูส่วนต่างราคา ซึ่งในส่วนมาร์จิ้นดีเซลคาดว่าจะอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐ กลับสู่ปกติ ขณะที่มาร์จิ้นเบนซินจะอยู่ที่ 14 เหรียญสหรัฐ

นพดล-ปิ่นสุภา

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การนำเข้าแอลเอ็นจีสปอตเป็นส่วนของ PTT Trading เป็นผู้ดูแล ส่วนการนำเข้า LNG สัญญา Long Term จะเป็นในส่วน ปตท. ขั้นต้น ซึ่งการนำเข้า LNG SPOT เราได้มีการประเมินสถานการณ์ทั้งในส่วนของปริมาณซัพพลายการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศทุกแหล่ง ข้อมูลสภาพอากาศ ควบคู่กับการประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้ภายในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

“ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.ได้ร่วมลดผลกระทบแก่ประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจร (SPOT) ในช่วงเวลาเร่งด่วน จัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย”

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท.ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึงธุรกิจที่ ปตท.ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566 คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท. หรือ 8,748 ล้านบาท

โดยดำเนินกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond พร้อมเติบโตในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

ประสงค์-อินทรหนองไผ่

ด้านนายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เปิดเผยว่า ปตท.ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon Based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท.

รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงานผันผวน เป็นต้น

ด้านกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.ได้ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business)

รวมถึงแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. อาทิ เตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel-SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) เป็นต้น