เจาะกำไร “กลุ่ม ปตท.” ไตรมาส 1 ฟื้นตัว-ไตรมาส 2 เสี่ยงชะลอ

ช่วงนี้เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) ทยอยแจ้งงบการเงิน งวดไตรมาส 1/2566 กัน โดยกลุ่ม “ปตท.” เป็นเซ็กเตอร์ที่มีความสำคัญกับตลาดหุ้นไทยอยู่มาก ซึ่งล่าสุด บริษัทในกลุ่มยังประกาศผลดำเนินงานไม่ครบ อย่างไรก็ดี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการคาดการณ์กำไรกลุ่มไว้ในเบื้องต้น

ไตรมาส 1 กำไรกลุ่ม “ฟื้นตัว”

โดย “ปรินทร์ นิกรกิตติโกศล” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดการณ์กำไร หุ้นกลุ่ม ปตท. งวดไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 7 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ปตท. (PTT) 2.บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 3.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 4.บมจ.ไทยออยล์ (TOP)

5.บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) 6.บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และ 7.บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) น่าจะทรงตัว หรือลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไร 53,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่า 6 บริษัทไม่รวม PTT จะมีกำไรรวมกัน 27,000 ล้านบาท หากรวมกำไร PTT อาจจะโตไม่เท่าปีก่อน

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ที่มีกำไร 25,000 ล้านบาท ขณะนี้กำไรรวมกันเกินไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะเป็นภาพของการฟื้นตัวแน่นอน

“เหตุผลหลัก คือ มีกำไรเฮดจิ้ง โดยกลุ่มโรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันน้อยลง ค่าการกลั่นดีขึ้น กลุ่มพลังงานต้นน้ำ ค่าใช้จ่ายพิเศษหายไป ขณะที่ OR ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ต้นทุนสูงพิเศษเพราะซัพพลายน้ำมันในประเทศขาดแคลน แต่ไตรมาส 1 ปีนี้กลับมาเป็นปกติแล้ว”

ซึ่งที่ผ่านมา PTTEP ประกาศกำไรออกมาใกล้เคียงที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% YOY และเพิ่มขึ้น 25% QOQ หลัก ๆ มาจากรายการพิเศษลดลง

โดยไตรมาส 4 ปีที่แล้วมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากด้อยค่าสินทรัพย์และตั้งสำรองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนการโต YOY มาจากขาดทุนเฮดจิ้งลดลง ทั้งนี้ การดำเนินงานหลักเทียบ YOY ถือว่าทรงตัว แต่เทียบ QOQ ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมัน

ส่วน TOP คาดกำไรอยู่ที่ 4,300 ล้านบาท ลดลง 41% YOY แต่เพิ่มขึ้น 2,800% QOQ จากฐานต่ำ ขณะที่ IRPC คาดมีกำไร 296 ล้านบาท ลดลง 80% YOY แต่ QOQ เป็นการพลิกจากขาดทุนไตรมาสก่อน 7,100 ล้านบาท เช่นเดียวกับ PTTGC คาดมีกำไร 498 ล้านบาท ลดลง 88% YOY แต่ QOQ สามารถพลิกจากขาดทุนไตรมาสก่อน 1,000 ล้านบาท

“เหตุผลหลัก ทั้ง 3 บริษัทในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ปรับตัวลดลง YOY มาจากฐานสูง เนื่องจากไตรมาส 1 ปีที่แล้วมีกำไรสต๊อกน้ำมันค่อนข้างมาก จากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปิโตรเคมีช่วงไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ภาวะตลาดยังไม่ over supply เท่าปัจจุบัน”

ส่วนการโต QOQ ของ PTTGC มีปัจจัยหนุนคือ 1.ค่าการกลั่นพุ่งขึ้น จากสเปรดน้ำมันเบนซินและต้นทุน crude premium ลดลง 2.วอลุ่มโรงกลั่นดีขึ้นเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทั้ง PTTGC, IRPC มีชัตดาวน์ใหญ่ ส่วน TOP มีชัตดาวน์ย่อย 3.สเปรดอะโรเมติกส์ฟื้นตัว

4.ขาดทุนสต๊อกน้ำมันลดลง ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งไตรมาส 4 ปีที่แล้วขาดทุนสต๊อกน้ำมันมาก แต่ไตรมาส 1 ปีนี้มีการกลับรายการขาดทุนมูลค่าสินค้าคงเหลือเข้ามาช่วย ฉะนั้น inventory loss ลดลง QOQ และ 5.ทั้งกลุ่มมีกำไรเฮดจิ้งกับกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาช่วย เนื่องจากเงินบาทไตรมาส 1 ปีนี้แข็งค่า

ส่วน GPSC คาดมีกำไร 1,000 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นทั้ง YOY และ QOQ โดยโต QOQ มาจากฝั่งโรงไฟฟ้า SPP เป็นหลัก เพราะดีมานด์จากลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ลูกค้ามีชัตดาวน์

ส่วนด้านราคาขาย ค่าไฟไตรมาส 1 ปีนี้ ด้านค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 บาท จาก 0.9 บาท ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และต้นทุนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินก็ปรับลง 5-10% รวมถึงค่าใช้จ่ายน่าจะปรับตัวลดลง QOQ ทั้งปัจจัยฤดูกาลและฐานสูง เนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ปรึกษาการลงทุน

ตาราง ประมาณลงทุน

มอง “โออาร์” พลิกกำไร QOQ (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า)

ส่วน OR คาดมีกำไร 2,400 ล้านบาท ลดลง 37% YOY แต่ QOQ พลิกกลับมาจากขาดทุนในไตรมาสก่อน เหตุผลหลักคือมาร์จิ้นหรือค่าการตลาดฟื้นตัว QOQ เพราะไตรมาส 4 ปีที่แล้วโรงกลั่นในประเทศมีการชัตดาวน์ ทำให้ OR ซึ่งเป็นปั๊มต้องไปซื้อน้ำมันจากที่อื่น ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น แต่ไตรมาส 1 ปีนี้ โรงกลั่นในประเทศกลับมาผลิตได้ตามปกติแล้ว เพราะฉะนั้นต้นทุนกลับมาเป็นระดับปกติทำให้มาร์จิ้นฟื้นตัวขึ้นมา

ไตรมาส 2 เสี่ยงกำไรลด

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้ TOP, IRPC, PTTGC คาดกำไรยังลดลง YOY ส่วน QOQ ยังไม่เด่น เนื่องจากค่าการกลั่นมองว่าจะอ่อนลง เพราะเริ่มเห็นสัญญาณสเปรดน้ำมันดีเซลกับน้ำมันอากาศยานปรับฐานลงมา และสเปรดปิโตรเคมียังฟื้นตัวช้าอยู่ เพราะยังอยู่ในช่วง over supply

ส่วน PTTEP คาดกำไรมีโอกาสลดลง QOQ และ YOY เหตุผลหลักคือราคาน้ำมันที่ชะลอลง และมีต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้นตามปกติ (ไตรมาส 1 ต้นทุนต่ำสุด) และราคาขายก๊าซน่าจะปรับลง QOQ เพราะว่าเริ่มสัมปทานใหม่ของโครงการบงกช ภาพรวมจึงไม่เด่น

คาดกำไรทั้งปี 2.26 แสนล้าน

“ปรินทร์” กล่าวว่า คาดการณ์กำไรกลุ่ม ปตท.ปี 2566 จะอยู่ที่ 226,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17% YOY หลัก ๆ มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจโรงไฟฟ้า คาดการณ์กำไร PTT อยู่ที่ 102,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% YOY กำไร PTTEP อยู่ที่ 72,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% YOY กำไร PTTGC อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท เทิร์นอะราวนด์จากขาดทุน 8,800 ล้านบาท กำไร TOP อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท ลดลง 59% YOY

ส่วนกำไร IRPC คาดอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เทิร์นอะราวนด์จากขาดทุน 4,400 ล้านบาท กำไร GPSC อยู่ที่ 5,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 538% YOY และกำไร OR อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% YOY

โดยคำแนะนำ “เทรดดิ้ง” หุ้น PTT, PTTEP, OR, IRPC ราคาเหมาะสมที่ 36.50 บาท, 160 บาท, 25 บาท, 2.90 บาท ส่วน TOP, GPSC, PTTGC แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมที่ 60 บาท, 82 บาท, 50 บาท

“เนื่องจากราคาหุ้นตอนนี้มีอัพไซด์มาก แต่ในเชิงกลยุทธ์ระยะสั้นถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย อาจไม่ต้องรีบเข้าลงทุน เหตุผลเพราะ 1.ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นโดยเฉพาะฝั่งสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนกลุ่มนี้ เพราะเป็นหุ้น global play ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก 2.ช่วงนี้มีเซนติเมนต์ลบจากนโยบายหาเสียงที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำมัน”

ทั้งนี้ ภาพใหญ่กลุ่มพลังงาน เศรษฐกิจโลกเริ่มมีความเปราะบาง เพราะฉะนั้นเลือกหุ้นที่เป็นลักษณะ defensive มากกว่าที่เป็น community play มองหุ้น GPSC เป็นตัวเลือกที่ดีสุด


“ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบปีนี้บนสมมุติฐานอยู่ที่ 85 เหรียญต่อบาร์เรล ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 80 เหรียญต่อบาร์เรล คาดราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีเป็นภาพไซด์เวย์ กรอบด้านล่างมองแถว ๆ 70 เหรียญต่อบาร์เรล และด้านบนคงไม่วิ่งขึ้นไปเกิน 90 เหรียญต่อบาร์เรล เพราะด้วยเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณเปราะบางจะส่งผลต่อดีมานด์” ปรินทร์กล่าว