ลุ้นโฉม “บอร์ดเอไอแห่งชาติ” กลางปี’67 ลุยร่างกฎหมายคุมจริยธรรมเอไอ

รมว.ดีอี ร่วมงาน Huawei Digital and Intelligent APAC 2024 เร่งดันโครงสร้างคลาวด์ เอไอ พร้อมเผยเตรียมเรื่องตั้งบอร์ดเอไอแห่งชาติ เข้าบอร์ดดีอี-ครม. เดือนหน้า คาดเห็นโฉมบอร์ดเอไอกลางปี เพื่อร่างกฎหมายคุมการใช้เอไอ

วันที่ 29 เมษายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้กล่าวในงานประชุม Huawei Digital and Intelligent APAC Congress จัดโดยหัวเว่ย เทคโนโลยี่ และมูลนิธิอาเซียน

ภายในงานมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ พันธมิตร และนักวิเคราะห์มากกว่า 1,500 คนจาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมงาน

รมว.ดีอีกล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ช่วยหารือทิศทางที่สอดคล้องกันคือเรื่องการพัฒนาโครงสร้างคลาวด์ตามนโยบาย Cloud First Policy รวมถึงเรื่องเอไอที่เป็นก้าวต่อไปของรัฐบาล และยังมีการหารือเรื่องภัยคุกคามจากสื่อออนไลน์ที่หลอกลวงประชาชนด้วยว่าจะร่วมหาทางป้องกันได้อย่างไร

“เอไอเป็นก้าวต่อไปที่จะตามมาหลังจากมีโครงสร้างคลาวด์และจัดเก็บข้อมูลแล้ว แม้แต่ตอนนี้ดีอีก็ใช้เอไอในการตรวจจับพฤติกรรมของมิจฉาชีพ แต่การใช้งานเอไอยังมีความอันตรายและเป็นภัยคุกคามอยู่โดยเฉพาะในเรื่องของจริยธรรม ซึ่งทางสหภาพยุโรปก็เพิ่งจะมีการออกกฎหมายเอไอออกมา”

Advertisment

ตอนนี้ ดีอีเองก็มีการเตรียมจัดตั้งคณะอนุกรรมการเอไอแห่งชาติ เพื่อศึกษาและพัฒนากฎระเบียบด้านจริยธรรมเอไอ และการกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยตอนนี้เป็นการร่วมมือกันของกระทรวงดีอี-กระทรวง อว. คาดว่าบอร์ดนี้จะมีอยู่ราว 10 คน

ในเดือนหน้าจะมีการประชุมบอร์ดใหญ่ดีอี ที่มีนายกฯเป็นประธาน เพื่อเสนอเรื่องนี้ และนำเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการเอไอแห่งชาติเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นโฉมของทีมเอไอ หรือบอร์ดเอไอแห่งชาติ กลางปี 2567 นี้

ผลักดันกรอบความร่วมมือใหม่ DEFA เคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ภายในงาน Huawei Digital and Intelligent APAC Congress มีผู้บริหารจากหัวเว่ย อย่างนางซาบรีนา เมิ่ง รองประธาน ประธานหมุนเวียนตามวาระ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย ได้กล่าวเปิดการประชุมดังกล่าว โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของตนเอง ซึ่งหัวเว่ยได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนนี้

“ก้าวต่อไปนับจากนี้ เราจะยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าให้กับลูกค้า เราต้องการทำหน้าที่ของเราในการนำประโยชน์ต่าง ๆ ของนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะมามอบให้กับผู้คนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเรายังต้องการส่งเสริมการพัฒนาภาคเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่ไปกับภาคเศรษฐกิจจริงในแบบองค์รวม” 

Advertisment

ด้าน ฯพณฯ นารายา เอส ซูปราปโต รองเลขาธิการแห่งสำนักงานเลขาธิการอาเซียน กล่าวด้วยว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นอนาคตของกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement : DEFA) เอื้อให้สังคมและชุมชนธุรกิจของเราได้มีกำลังขับเคลื่อนในการปลดล็อกศักยภาพด้านบริการดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลแบบคลาวด์

ทั้งนี้ ในการที่จะสร้างอนาคตแห่งความสำเร็จด้านดิจิทัลให้ทั่วทั้งภูมิภาค ภาครัฐบาล เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องนำแนวทางที่สอดคล้องกันมาใช้ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อด้านดิจิทัล พร้อมลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงพัฒนาทักษะ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลภายในภูมิภาค

หลังจากการประชุมในครั้งนี้ หัวเว่ยมีกำหนดจัดการประชุมอีก 4 งาน ได้แก่ การประชุม Huawei Network Summit การประชุม Innovative Data Infrastructure Forum การประชุม Global Optical Summit และการประชุม Huawei Cloud Stack Conference

ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยและพันธมิตรยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสำคัญอีก 7 งาน ซึ่งจะมีทั้งการเปิดตัวโซลูชั่นคลื่นความถี่สูงเพื่อตลาดเชิงพาณิชย์ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับธุรกิจการจัดจำหน่าย การมอบรางวัลสำหรับพันธมิตรที่มีผลงานโดดเด่นในงาน Asia-Pacific Partners’ Night นอกจากนี้ หัวเว่ยจะเปิดตัวโซลูชั่นสำหรับภาคอุตสาหกรรมในงาน Global ISP Summit Asia Pacific และงาน Manufacturing and Large Enterprise Summit อีกด้วย