9 จังหวัดดัน “เวลเนสฮับ” แสนล้านคู่แฝด EEC

เวลเนสฮับ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยแพทย์ 9 จังหวัดผนึกกฎบัตรไทย ชงร่างยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจเวลเนส-แผนยุทธศาสตร์เขตนวัตกรรมการแพทย์ เสนอสาธารณสุขต้นเมษายนนี้ ดัน ครม.รักษาการไฟเขียวกรอบนโยบาย 10 ปี วงเงินงบประมาณ 1.8 แสนล้าน พร้อมยกร่าง พ.ร.บ.คู่แฝดอีอีซี ขอสิทธิประโยชน์จูงใจเอกชนลงทุนเครื่องมือแพทย์กว่า 5 เท่า

นายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทยและนายกสมาคมการผังเมืองไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎบัตรไทยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน 9 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สงขลา เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และชลบุรี ได้ยกร่าง “แผนยุทธศาสตร์เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสของจังหวัด และแผนยุทธศาสตร์เขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพระดับจังหวัด” เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ฐาปนา บุณยประวิตร

ดัน 9 จว.10 เขตนวัตกรรมแพทย์

ทั้งได้เสนอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub) ผลักดันผ่านกระทรวงสาธารณสุขเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ ภายในเดือนเมษายน 2566 หลังจากประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

โดยขออนุมัติหลักการ 1.ให้มีการประกาศเขตนวัตกรรมการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ ตามมติบอร์ด medical hub ซึ่งประกาศรับรองไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 มี 3 ประเด็น ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน 2.โครงการอุดรธานีเมืองการแพทย์ และโครงการจัดตั้งศูนย์มะเร็งเป็นศูนย์การแพทย์แม่นยำในภูมิภาคอินโดจีน 3.การประกาศระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย จำนวน 8 ระเบียงเศรษฐกิจ โดยให้จัดสร้างเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพจำนวน 9 บริเวณ

พร้อมยกร่างกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ที่มีความเป็นเลิศด้านการผลิตและการบริการของอุตสาหกรรมเวลเนส และพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่าสูง และเพิ่มกลไกใหม่ในการกระตุ้นพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

จึงได้จัดทำสิทธิประโยชน์จูงใจเอกชนเข้ามาลงทุนในเขตนวัตกรรมการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สูงกว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์อีกเท่าตัวตามประกาศของ BOI สำหรับกิจการที่ลงทุนใหม่, ให้สิทธิพิเศษวีซ่าระยะยาวประเภทใหม่ สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลพร้อมผู้ติดตาม โดยเพิ่มอีก 5 เท่า เช่น บีโอไอให้ 5 ปี กฎบัตรเสนอขอไป 10 ปี เป็นต้น

ลดขั้นตอนขออนุญาตก่อสร้างและประกอบการตามกฎหมายร้อยละ 50 เพื่อลดเวลาและต้นทุน, เพิ่มสิทธิพิเศษสำหรับโรงพยาบาล โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ และสถานส่งเสริมสุขภาพ Thai NOW ให้ได้สิทธิเทียบเท่า หรือไม่น้อยกว่าประกาศของ BOI และอนุญาตให้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน

และ 2.เสนออนุมัติกรอบงบประมาณวงเงิน 187,106.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ 10 ปี (พ.ศ. 2567-2576) 3.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยให้ ครม.สั่งให้กรรมการเมดิคอลฮับตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และเสนอให้มีการตั้งองค์การมหาชน รูปแบบเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.

โดยอิงกฎหมาย EEC แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.รักษาการ และช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2566 สบส.จะนัดประชุมอีกครั้ง พร้อมยื่นข้อเสนอให้ ครม.รักษาการพิจารณา

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ฯ พลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่ง สบส.และเครือข่ายได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขับเคลื่อนส่งเสริมโรงแรมในฝั่งอันดามันภาคใต้ทำธุรกิจเวลเนส แต่ทำไประยะหนึ่งจึงมีคำถามว่า ทำไมทำเฉพาะอันดามัน ในเมื่อหลายพื้นที่มีศักยภาพและได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน”

“จึงปรึกษากับกฎบัตรขอขยายโครงการเวลเนสไป 9 จังหวัด ตามที่บอร์ดเมดิคอลฮับมีมติอนุมัติแล้ว และขอให้กฎบัตรจัดทำแผนยุทธศาสตร์งบประมาณใหม่ในพื้นที่ 9 ระเบียง 10 เขตนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ผ่านมา สบส.ให้เรายื่นแผนช้าสุดคือปลายเดือนมกราคม 2566 แต่เราทำไม่ทันการยุบสภา ดังนั้น ต้นเดือนเมษายนนี้ สบส.จะประชุมนำเรื่องเข้า ครม.รักษาการแทน”

ขอนแก่นต่อยอดจาก Medical Hub

ดร.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เครือข่ายเวลเนสภาคอีสานตอนบนที่ลงนามกับกฎบัตรไทยมี 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และหนองคาย โดยอุดรธานีจะอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะดูแลขอนแก่นและหนองคาย ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์และศูนย์หัวใจสิริกิติ์รองรับ ส่วนหนองคายจะรองรับการรักษาขั้นสูง ทั้งโรคมะเร็ง โรงหัวใจ โรคสมอง

ดร.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล

ทั้งขอนแก่นและหนองคายมีแผนงานและงบประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเน้นลงทุนร่วมกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นผู้ประสานงาน จัดตั้งสำนักงานบริการโครงการและเป็นศูนย์รวมข้อมูลประกอบการตัดสินใจของภาคเอกชนด้วย หากยังไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐ แต่หากเอกชนสนใจก็พร้อมดำเนินการบางส่วนไปก่อน

โคราชหนุนพัฒนาเครื่องมือแพทย์

ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นครราชสีมาจะมุ่งพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะปัจจุบันไทยนำเข้าสูงถึง 95% ข้อมูลสภาพัฒน์ปี 2565 ระบุนำเข้าแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท ฉะนั้น การดึงดูดนักลงทุนต้องให้ทำธุรกิจได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ลดหย่อนภาษี

ดร.ศตคุณ เดชพันธ์


ในปี 2566 มทร.จะทำหลักสูตรวิศวกรรรมทางการแพทย์ เพื่อวางรากฐานก่อน เพราะงบประมาณยังไม่มา ส่วนความตื่นตัวของผู้ประกอบการจะอยู่ในโซนเขาใหญ่ ปากช่อง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก