โรงแรม เหนือ-อีสาน 63 แห่ง รุกธุรกิจเวลเนส ตั้งเป้าโต 4 แสนล้าน

เวลเนส-รพ.ศรีสวรรค์

การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มุมหนึ่งที่ปรากฏชัด คือ การปรับตัวในภาคธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง หรือแทบจะเป็นศูนย์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต่างหาหนทางปรับตัวเพื่อพยุงธุรกิจให้เดินต่อไปได้

กิจการ wellness คือจุดมุ่งหมายที่ผู้ประกอบการหลายคนกำลังมุ่งไป และสอดรับการก้าวย่างสู่สังคมผู้สูงวัย

กฎบัตรฯผนึก 9 มหาวิทยาลัย

“กฎบัตรไทย” หนึ่งในองค์กรที่ลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกในการจับมือร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ 9 มหาวิทยาลัยในภูมิภาค ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

รวมทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประกาศเปิดตัว “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายในเดือนสิงหาคม 2565” เพื่อมุ่งพลิกฟื้นประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจเวลเนส

โดยใช้ฐานการแพทย์ สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปรับปรุงโรงพยาบาลและโรงแรมให้เป็น “กิจการนวัตกรรมเวลเนส” มูลค่าสูง หรือกิจการ Wellness Thai Unicorn วางเป้าปี 2566 สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท และภายในปี 2570 จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านบาท

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย เลขานุการกฎบัตรไทย กล่าวว่า กฎบัตรไทยโดยการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก บพท. ได้เริ่มแผนงานโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 ร่วมกับ สบส. เครือข่ายมหาวิทยาลัย สวทช. โรงพยาบาล โรงแรม และกลุ่มกิจการในซัพพลายเชนเศรษฐกิจเวลเนส เปิดตัวระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยในปี 2565-2566 ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และนครสวรรค์ มีจังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์กลางของระเบียงและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยพายัพเป็นหน่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหน่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ

โดยใช้กลยุทธ์การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากกิจการนวัตกรรมเวลเนสต้นแบบของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจ จากผู้เชี่ยวชาญเวลเนสของกฎบัตรไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ สวทช. และเครือข่ายสมาคมในพื้นที่ที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำการใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารเพื่อสุขภาพ (healthy building)

นายภูวนารถ ยกฉวี กรรมการกฎบัตรสุขภาพและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี-เฮลธี เอเซีย จำกัด กล่าวว่า บี-เฮลธี ได้รับมอบหมายให้ประสานการจัด wellness package และการตลาด โดยจะรับผิดชอบในการออกแบบ innovation package ที่บูรณาการ ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพ (health coach) สาขาต่างโรงพยาบาล โรงแรม ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งนำระบบ digital health เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบเข้าด้วยกัน เพื่อยกระดับการบริการและการตลาด

เบื้องต้นได้ทำความตกลงบูรณาการแพ็กเกจพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือระหว่างโรงแรมต้นแบบทั้ง 28 แห่ง กับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์, โรงพยาบาลไอเวอร์บรุ๊ค เชียงราย และโรงพยาบาลแมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้ฐานของโรงพยาบาลศรีสวรรค์ โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์

ส่วนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้บูรณาการระหว่างโรงแรมต้นแบบ 35 แห่งกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, โรงพยาบาลวัฒนา จังหวัดอุดรธานี, โรงพยาบาลเซนต์แมรี่, โรงพยาบาลริม ลิฟวิ่ง และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการบูรณาการแพ็กเกจในครั้งนี้จะทำให้สามารถพัฒนาแพ็กเกจนวัตกรรมการแพทย์กับการบริการส่งเสริมสุขภาพของโรงแรมที่เพิ่มมูลค่าระดับสูง และเพิ่มการพำนักระยะยาวให้กับเครือข่ายกิจการต้นแบบในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ

กิจการโรงแรมที่จะใช้เป็นฐานหลักในการให้บริการเวลเนสร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ได้แก่ โรงแรมศิลามณี รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรมไฮ เชียงราย, โรงแรมแกรนด์วิสต้า, โรงแรมริเวอร์ บรี๊ซ เชียงแสน, โรงแรมสิริมันตรา จังหวัดเชียงใหม่, โรงแรมอมราวตี เวลเนส เซนเตอร์, โรงแรมวิลล่าเดอวิล, โรงแรมไอคอล พาร์ค จังหวัดนครสวรรค์, โรงแรมแกรนด์วิษณุ, โรงแรมบอนนิโต ชิโนโอเทล

โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

รร.แกรนด์ วิสต้า จ.เชียงราย

พื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ โรงแรมประจักษ์ตรา อุดรธานี, โรงแรมเซนทาราแกรนด์, โรงแรมเจริญโฮเทล จังหวัดขอนแก่น, โรงแรมชาร์ม บูทิค รีสอร์ท, โรงแรมพิมานขอนแก่น, โรงแรมเมเจอร์ แกรนด์ ขอนแก่น, โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น, โรงแรมกรีนโฮเทล จังหวัดนครราชสีมา, โรงแรมไอซาน่า, โรงแรมมาราสก้า เขาใหญ่, โรงแรมเคนซิงตัน อิงลิช การ์เด้นท์ เขาใหญ่, โรงแรมเดอะเปียโน รีสอร์ท, โรงแรมปาป้าฟาร์สเตย์ วังน้ำเขียว, โรงแรมสีมาธานี, โรงแรมราโค่ โฮเทล เป็นต้น

ส่วนการยกระดับสมรรถนะแก่กิจการนวัตกรรมเวลเนสต้นแบบนั้น กฎบัตรไทยจะสนับสนุนให้กิจการมีความเป็นเลิศใน 6 สาขา ประกอบด้วย สาขาเวลเนสองค์รวม (holistic wellness-physical, mental, spiritual, nutrition, herbal) สาขาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (Thai traditional medicine/healthy spa/alternative medicine)

สาขาการฟื้นฟูสุขภาพและความงาม (anti-aging/aesthetic/cosmetic wellness) สาขาการแพทย์สมัยใหม่ (functional and preventive/precision medicine) สาขาการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย (senior/long stay wellness) และสาขาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (wellness real estate)

โดยวางเป้าหมายให้สาขาเวลเนสองค์รวมเป็นสาขาที่สร้างเศรษฐกิจสูงสุด รองลงมาเป็นสาขาการฟื้นฟูสุขภาพและความงาม และสาขาการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งทั้ง 3 สาขาเวลเนสหลักนี้จะสร้างเศรษฐกิจให้กับระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือและภาคอีสานได้ไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท ภายในปี 2566 สร้างงานนวัตกรรมในสาขาเวลเนสและสุขภาพไม่น้อยกว่า 3 หมื่นอัตรา และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ผลิตอาหารและสมุนไพรไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท