ภาคใต้แห่เพิ่มพื้นที่ปลูกผลไม้ “ทุเรียน” ราคาพุ่งไม่หยุดมูลค่าทะลุแสนล้าน

ทุเรียน

ผลไม้ไทยทำรายได้เกินคาด ผลผลิต “ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลองกอง” ปี 2566 พุ่งเฉียด 9 แสนตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 80% เฉพาะทุเรียนมูลค่าทะลุแสนล้านบาท ราคาดี จูงใจ 14 จังหวัดภาคใต้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็นกว่า 7 แสนไร่ จังหวัดชุมพรนำโด่งเฉียด 3 แสนไร่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกันเกิน 1.3 แสนไร่ หวั่นเอลนีโญกระทบผลผลิตปีหน้า

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ปี 2566 ครั้งที่ 2 คณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดทำและวิเคราะห์ฐานข้อมูลการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ รวม 14 จังหวัด โดยประเมินสถานการณ์การออกดอกติดผล และการกระจายผลผลิตไม้ผลปี 2566 โดยเฉพาะ “ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลองกอง” ปี 2566 จะพุ่งเฉียด 9 แสนตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 80%

ทุเรียนมูลค่าทะลุแสนล้าน

“ตอนนี้ต้องบอกว่าผลไม้ราคาดี จูงใจ ทั้งนี้เป็นผลมาจากทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็นกว่า 7 แสนไร่ โดยจังหวัดชุมพรถือว่าขยายพื้นที่ปลูกได้มากโดดเด่นกว่าจังหวัดอื่น มีพื้นที่เฉียด 3 แสนไร่ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกันเกิน 1.3 แสนไร่ เนื้อที่ปลูกทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 1,139,056 ไร่ เทียบกับปี 2565 ที่มีแค่ 1,113,454 ไร่ เท่ากับเพิ่มขึ้น 2.3% มีผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 1,219 กก.ต่อไร่ เทียบปี 2565 ที่มีแค่ 881 กิโลกรัมต่อไร่ เท่ากับเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.37 ทีเดียว

ทั้งนี้ผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลปี 2566 จะออกตัวสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม มีมากถึง 589,925 ตัน และจะมีผลผลิตออกมากสุดในเดือนกรกฎาคมเกือบ 30% ถ้ารวมปีนี้เฉพาะทุเรียนมูลค่าน่าจะทะลุแสนล้านบาท”

นายนิกร แสงเกตุ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จ.สุราษฎร์ธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 ภาคใต้ฝนตกไม่ต่อเนื่อง จนทำให้ไม้ผลไม่สามารถออกดอกได้ แต่ปี 2566 ในการประเมินรอบแรกในการประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ได้ร่วมกันจัดทำและวิเคราะห์ฐานข้อมูลการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ร่วมกัน 14 จังหวัด วันที่ 29 มีนาคม 2566 ปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิดยังมากอยู่ ได้ผลผลิตรวม 931,590 ตัน แบ่งเป็นทุเรียน 716,902 ตัน, มังคุด 127,551 ตัน, เงาะ 51,382 ตัน และลองกอง 35,755 ตัน

ทุเรียนชุมพรกวาดตลาด 50%

นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จ.ชุมพร (ศพก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ปี 2566 จากการประเมินครั้งล่าสุดของคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ 18-19 พฤษภาคม คาดการณ์ว่าทุเรียน จ.ชุมพรน่าจะให้ผลผลิต 337,376 ตัน มากที่สุดถึง 50% ของทุเรียนภาคใต้ จากการเปิดราคาต้นฤดูกาลในช่วงเดือนมิถุนายน

เกรด AB กก.ละ 180 บาท สูงจากปีที่แล้ว และในช่วงที่ทุเรียนออกมากปลายมิถุนายน-ต้นกรกฎาคมน่าจะราคา 140-150 บาท และในช่วงที่ทุเรียนขาดช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ราคาน่าจะพุ่งไปถึง กก.ละ 250-270 บาท

หวั่นเอลนีโญกระทบผลผลิตปีหน้า

ทางด้านนายศิริ เฮ่าสกุล นายกสมาคมทุเรียนใต้ กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคใต้ปีนี้มีทุเรียนออก 4-5 รุ่น แต่ยังกังวลภาวะภัยแล้งน้ำหนักผลผลิตจะลดลงจากการประเมินล่วงหน้า ทุเรียนเกรด AB น้ำหนัก 2-5 กก.ใน จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี คาดว่าน่าจะลดลง 50-60% ทุเรียนตกไซซ์จะปริมาณเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อราคาผลผลิตของเกษตรกร เพราะราคาต่างกันมาก และจะเชื่อมโยงกับใบ GAP ของเกษตรกรที่ถูกสวมสิทธิส่งออกที่ต้องระวังจากมีกรณีเกิดขึ้นมาแล้วที่ล้งนำไปใช้โดยเจ้าของสวนไม่ได้รับรู้

“ปี 2565 จ.ชุมพร ผลผลิตจากการประเมินของหน่วยงาน 220,000 ตันจริงได้เพียง 180,000 ตัน คาดการณ์ผลผลิตปี 2566 จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ราคาที่เปิดตัว 160-180 บาท ทุเรียนจะออกหลัง 10 มิถุนายนไปแล้ว หากทำทุเรียนคุณภาพ ราคาน่าจะยืนอยู่ที่ 140-150 บาท ปัญหาคือชาวสวนต้องระมัดระวังในการใช้ GAP ป้องกันการสวมสิทธิ และการทำสัญญาเหมาสวนที่ต้องระวังการตัดทุเรียนอ่อน” นายศิริกล่าว

นายปรีดา เยี่ยมสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศิริมงคล โลจิสติกส์จำกัด และบริษัท ศิริมงคล คอร์เปอเรท กรุ๊ป จำกัด จ.ชุมพร ที่รับซื้อผลไม้ส่งออกต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสภาพภัยแล้งที่เกิดขึ้นใน อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนมากที่สุดของ จ.ชุมพร ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะภาวะที่ต้องซื้อน้ำรดทุเรียน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ต่อพฤษภาคม

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า การประเมินคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 แต่ละจังหวัดสะท้อนปัญหาเรื่องภัยแล้ง รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิด ผลผลิตรวมจะเหลือ 895,118 ตัน แบ่งเป็นทุเรียนเหลือ 667,338 ตัน หายไป 49,564 ตัน, มังคุดเหลือ 142,077 ตัน หายไป 14,526 ตัน, ลองกองเหลือ 32,899 ตัน หายไป 2,856 ตัน

ยกเว้นเงาะ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 52,804 ตัน เพิ่มขึ้น 1,422 ตัน ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินครั้งที่ 2/2566 ยังมีผลผลิตมากกว่าปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.03 ขณะที่ทิศทางราคาดีสำหรับทุเรียนคุณภาพ